เครื่องหมายเสียง (sound mark) และเครื่องหมายกลิ่น (scent mark)

ตามพ.ร.บ. เครื่องหมายการค้าของไทย ตามมาตรา 4 เครื่องหมายการค้าต้องเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ด้วยตา (visually perceptible) เช่น ภาพถ่าย ภาพวาด ภาพประดิษฐ์ ตรา ชื่อ คำ ข้อความ ตัวหนังสือ ตัวเลข ลายมือชื่อ กลุ่มของสี รูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุ หรือสิ่งเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน โดยกระทรวงพาณิชย์ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า ที่ได้ปรับปรุงแก้ไขใหม่ เสนอต่อที่ประชุมสภา ครอบคลุมคุ้มครองการจดเครื่องหมายการค้ากลิ่นและเสียงแล้วแต่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณา

ในบางประเทศ รวมทั้งสหรัฐฯ เสียงและกลิ่นสามารถจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าได้ บนพื้นฐานแนวคิดที่ว่า เสียงและกลิ่นสามารถบ่งเฉพาะให้นึกถึงสินค้าได้ เช่น เสียงดนตรีของรถเข็นไอศกรีมวอลล์ ทำให้ผู้บริโภคนึกถึงไอศกรีมดังกล่าว ไม่ใช่ไอศกรีมอื่น เช่นเดียวกันกับกลิ่นของสินค้าต่างๆ ดังนั้นเสียงและกลิ่นจึงอาจมีลักษณะบ่งเฉพาะได้แม้ว่าจะไม่สามารถมองเห็นด้วยตา แต่เครื่องหมายเสียงและกลิ่นจะต้องไม่ให้ความหมายที่เป็นคุณสมบัติโดยตรงของสินค้านั้น หรือกล่าวได้ว่า ต้องมีความหมายที่สอง (secondary meaning) ยกตัวอย่างเช่น น้ำหอมอาจจะไม่สามารถจดทะเบียนเครื่องหมายกลิ่นได้ เพราะกลิ่นเหล่านั้นคือคุณสมบัติโดยตรงของสินค้า อย่างไรก็ตาม ในต่างประเทศยังไม่มีมาตรฐานเดียวกันในการจดทะเบียนเครื่องหมายเสียงและเครื่องหมายกลิ่น ในปัจจุบันแต่ละประเทศจึงมีข้อกำหนดและการยอมรับเครื่องหมายเสียงและเครื่องหมายกลิ่นที่แตกต่างกันดังนี้

เครื่องหมายเสียง
ในสหรัฐอเมริกานั้น เสียงสามารถจดเครื่องหมายการค้าได้ แต่จะต้องให้มีการแสดงให้เห็นความหมายที่สอง ตัวอย่างของเสียงที่ได้มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว ได้แก่ เสียงระฆังในช่วงเปิดรายการของสถานีโทรทัศน์ NBC เสียงสิงโตคำรามก่อนการเริ่มต้นของภาพยนตร์ของบริษัท MGM เป็นต้น
สำนักงานสิทธิบัตรสหรัฐฯได้จดทะเบียนเครื่องหมายเสียง โดยพิจารณาองค์ประกอบของเสียงในหลายลักษณะ อาทิ ด้วยบรรทัดของเสียง (scale code) เช่น บริษัทอินเทล ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์และซอฟแวร์ (เลขทะเบียนที่ RN: 2315261) ใช้เสียง 5 ตัวโน้ตในการจดทะเบียน (D flat D flat G D flat and A flat) รวมทั้งเครื่องหมายเสียงก็สามารถแสดงด้วยตัวโน้ต (score) หรือแทนเสียงด้วยภาษา เช่น เสียงร้องเพลงว่า “FT. Worth National That’s my bank” (เลขทะเบียน AP: 78013907)
ในขณะที่สหภาพยุโรป Office for Harmonization in the Internal Market (OHIM) ก็ได้ยอมรับเครื่องหมายเสียง ซึ่งมีการแสดงให้เห็นเป็นภาพ (graphic representation) เช่น โดยการแทนเสียงด้วยโน้ตดนตรี เป็นต้น ฝรั่งเศสก็ให้การคุ้มครองเครื่องหมายเสียง ซึ่งประกอบด้วย เสียงโดยทั่วไป วลีดนตรี ช่วงของทำนอง เป็นต้น (Article L711-1(b) ของกฎหมายปี 1992) เยอรมันก็เช่นกัน นับตั้งแต่การใช้กฎหมายเครื่องหมายการค้าของเยอรมันเมื่อปี 1995 พบว่า มีการยื่นคำของจดทะเบียนเครื่องหมายเสียงประมาณ 200 คำขอ ซึ่ง 90% ของคำขอดังกล่าวได้รับการจดทะเบียน ส่วนอังกฤษนั้นยอมรับว่า เสียงสามารถเป็นเครื่องหมายการค้าได้ หากสามารถแสดงให้เห็นเป็นภาพ ล่าสุด ออสเตรเลียก็ได้ปรับปรุงกฎหมายเครื่องหมายการค้าฉบับใหม่โดยให้เสียงสามารถจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าได้เช่นกัน ในทางตรงกันข้าม หลายประเทศก็ยังไม่มีท่าทีที่จะยอมรับการจดเครื่องหมายดังกล่าว เช่น กฎหมายทรัพย์สินอุตสาหกรรมของเม็กซิโก (Mexican Industrial Property Law) ไม่อนุญาตให้มีการจดทะเบียนเครื่องหมายเสียง เนื่องจากเสียงไม่สามารถมองเห็นได้ เช่นเดียวกับ บราซิล และประเทศในเอเชียส่วนใหญ่ เช่น จีน ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศไทย ก็ไม่ให้การรับรองการจดทะเบียนเครื่องหมายเสียง

เครื่องหมายกลิ่น
ในกฎหมายสหรัฐฯ กลิ่นสามารถจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าได้ หากสามารถแสดงคุณลักษณะ (attribute) หน้าที่ (functionality) การบรรยายลักษณะ (descriptiveness) และถ่ายทอดจินตภาพ (imaginativeness) ของสินค้านั้น
ในปัจจุบัน สหรัฐจดทะเบียนเครื่องหมายกลิ่นโดยใช้ภาษาบรรยาย โดยได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายกลิ่นเป็นครั้งแรกในโลกในปี 1990 ให้แก่บริษัทผู้ผลิตเส้นด้ายเย็บผ้า ซึ่งบริษัทดังกล่าวได้บรรยายว่า กลิ่นเส้นด้ายของตนมีผลกระทบต่อผู้ได้กลิ่นสูง (high impact) โดยทำให้เกิดความรู้สึกสดชื่น (fresh) จากกลิ่นที่หอมดั่งดอกไม้ที่ทำให้หวนระลึกถึงความหลัง (floral fragrance reminiscent of plumeria blossoms) (US:RN163912)
สหภาพยุโรปเองก็ได้มียอมรับการจดทะเบียนเครื่องหมายกลิ่น (olfactory trademarks) บ้าง อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ OHIM ได้ปฏิเสธที่การจดทะเบียนเครื่องหมายกลิ่น เนื่องจากขาดความสามารถในการแสดงให้เห็นเป็นภาพ เช่นเดียวกับกฎหมายสิทธิบัตรของฝรั่งเศส ซึ่งกำหนดไว้ว่า กลิ่นที่จะจดทะเบียนได้นั้นจะต้องสามารถแสดงให้เห็นเป็นภาพได้ ในทำนองเดียวกัน ศาลสิทธิบัตรเยอรมัน (Bundespatentgericht) ได้อ้างถึงศาลของสหภาพยุโรปที่ได้มีแนวทางในการพิจารณาในเรื่องนี้ว่า กลิ่นที่จะจดทะเบียนได้ต้องสามารถแสดงให้เห็นเป็นภาพ ส่วนประเทศในเอเซียนั้นก็ไม่เปิดให้มีการจดทะเบียนเครื่องหมายกลิ่นแต่อย่างใด

วิธีการแสดงภาพของเสียงและกลิ่น
ด้วยปัญหาที่เสียงและกลิ่นไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา การบ่งเฉพาะว่าเครื่องหมายเสียงหรือกลิ่นหนึ่ง ซ้ำกับเครื่องหมายอื่นเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีการนำวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ โดยแปลงเสียงเป็นภาพด้วยสัญลักษณ์ของเสียง (ตัวโน้ต) หรือ แถบภาพความถี่ของเสียง (sonograms) และแปลงกลิ่นเป็นภาพ โดยกระบวนการโครมาโตรกราฟี่ (chromatography) ด้วยก๊าซหรือของเหลว จากเทคนิคดังกล่าว ลักษณะบ่งเฉพาะของเสียงและกลิ่นจึงสามารถระบุและตัดสินได้เมื่อมีการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ยกตัวอย่างเช่น ในสหรัฐฯ การยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทำได้โดยการบันทึกเสียงใน ”ไฟล์เสียง” ของคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์เป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ แล้วระบุว่าเป็นเครื่องหมายการค้า ซึ่งไฟล์ข้อมูลของเสียงที่ได้มีการจดเครื่องหมายการค้าทั้งหมดจะถูกจัดเก็บที่สำนักงานสิทธิบัตรสหรัฐฯเพื่อใช้ในการเปรียบเทียบกับเครื่องหมายอื่นที่ยื่นขอจดทะเบียนภายหลัง อย่างไรก็ตาม เสียงบางเสียงอาจไม่มีคุณสมบัติเพียงพอในการบ่งเฉพาะ เช่น เสียงที่ประกอบด้วย โน้ตดนตรีเพียงหนึ่งหรือสองตัว ในกฎหมายเครื่องหมายการค้าของญี่ปุ่นได้ระบุว่า เสียงดังกล่าวไม่สามารถบอกความสัมพันธ์ต่อสินค้าหรือบริการได้

ข้อมูล : www.ftadigest.com

แอดไลน์