การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้การเจรจาจัดทำความตกลงเพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (Agreement Establishing the ASEAN -Australia – New Zealand Free Trade Area: AANZFTA

การเจรจาจัดทำความตกลงเพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (Agreement Establishing the ASEAN -Australia – New Zealand Free Trade Area: AANZFTA) เริ่มมีผลบังคับใช้สำหรับประเทศภาคีที่มีความพร้อมในการบังคับใช้ความตกลงแล้ว ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ บรูไน มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ไทยได้ทำการแจ้งถึงความพร้อมในการบังคับใช้ความตกลงต่อประเทศภาคีแล้ว เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2553 ซึ่งจะทำให้ความตกลง AANZFTA มีผลบังคับใช้สำหรับไทย 60 วันให้หลัง คือ ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2553 เป็นต้นไป
สาระสำคัญ ความตกลง AANZFTA เป็นความตกลงที่มีขอบเขตกว้าง โดยครอบคลุมเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการค้าเกือบทุกเรื่อง รวมทั้งการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจในแขนงต่างๆ เช่น เรื่องการลดภาษี การยกเลิกการอุดหนุนส่งออกสินค้าเกษตร การเปิดเสรีการลงทุน และการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน เป็นต้น
ทรัพย์สินทางปัญญา โดยความตกลงเพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรี อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ได้กำหนดวัตถุประสงค์หลักเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาให้คำนึงถึงความแตกต่างของระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและศักยภาพ และความแตกต่างของระบบกฎหมายของแต่ละประเทศ และความจำเป็นที่จะคงไว้ซึ่งสมดุลที่เหมาะสมระหว่างสิทธิของเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาและผลประโยชน์อันชอบธรรมของผู้ใช้ในเนื้อหาสาระที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และ ประเทศภาคีแต่ละฝ่ายยืนยันสิทธิและพันธกรณีของตนที่มีต่อประเทศภาคีอื่นแต่ละฝ่ายภายใต้ความตกลงทริปส์ ซึ่งหมายถึง ลิขสิทธิ์และสิทธิข้างเคียง สิทธิในเครื่องหมายการค้า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ การออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สิทธิบัตร และแบบผังภูมิ (ภาพผังภูมิ) ของวงจรรวม สิทธิในการคุ้มครองพันธุ์พืช และสิทธิในข้อมูลที่เป็นความลับ
ลิขสิทธิ์ ให้ผู้สร้างสรรค์งาน มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะอนุญาตให้มีการเผยแพร่งานของตนสู่สาธารณะโดยวิธีผ่านสายหรือไร้สายและจัดให้มีกระบวนการทางอาญาและบทลงโทษ
เครื่องหมายการค้าและสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ประเทศภาคีแต่ละฝ่ายจะต้องจัดให้มีการให้สิทธิในเครื่องหมายการค้าที่มีประสิทธิภาพสูงและคุ้มครองเครื่องหมายการค้า ในกรณีที่เครื่องหมายการค้านั้นมีอยู่ก่อนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในเขตอาณาของตน
ทรัพยากรทางพันธุกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมพื้นบ้าน ประเทศภาคีแต่ละฝ่ายอาจกำหนดมาตรการที่เหมาะสม เพื่อคุ้มครองทรัพยากรทางพันธุกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมพื้นบ้าน
กลุ่มประเทศภาคีจะต้องพยายามร่วมมือกันเพื่อที่จะส่งเสริมความมีประสิทธิภาพและความโปร่งใสของการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและระบบจดทะเบียน รวมทั้งโดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการในระบบดังกล่าว และโดยการพัฒนาฐานข้อมูลสิทธิที่ได้รับการจดทะเบียนที่เข้าถึงได้เป็นการทั่วไป

แอดไลน์