เครื่องหมายเชิงแนะนำ (Suggestive Mark) กับ เครื่องหมายไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ (non -distinctive) แตกต่างกันอย่างไร

เครื่องหมายเชิงแนะนำ (Suggestive Mark) กับ เครื่องหมายไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ (non -distinctive) แตกต่างกันอย่างไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1266/2563

คำว่า DERMATIX ซึ่งมีเสียงเรียกขานหรือคำอ่านที่สื่อความหมายว่าสินค้าของโจทก์เป็นสินค้าเกี่ยวกับผิวหนังนั้น มีลักษณะเป็นเพียงคำหรือเครื่องหมายเชิงแนะนำ (Suggestive Mark) ที่ชี้ชวนหรือแนะนำให้ทราบเป็นเบื้องต้นว่าเป็นสินค้าที่ใช้เกี่ยวกับผิวหนังเท่านั้น โดยไม่ได้อธิบายหรือพรรณนาถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงว่าเป็นซิลิโคนสำหรับเสริมสวย สารที่เตรียมขึ้นเพื่อใช้รักษาผิวหนังที่เสียหาย แผลเป็น และแผล ที่ไม่มีส่วนผสมของยา และเนื่องจากสิ่งที่ใช้เกี่ยวกับผิวหนังมีได้หลายประเภท สาธารณชนโดยทั่วไปเมื่อเห็นหรือได้ยินเสียงเรียกขานหรือคำอ่านของคำหรือเครื่องหมายดังกล่าวยังไม่อาจทราบได้โดยทันทีว่าสินค้าของโจทก์มีลักษณะอย่างไรหรือคุณสมบัติของสินค้าเป็นอย่างไร คงทราบได้แต่เพียงว่าเป็นสินค้าเกี่ยวกับผิวหนัง โดยจะต้องคิด จินตนาการ สืบหาต่อไป หรือเห็นตัวสินค้าที่คำหรือเครื่องหมายนั้นติดอยู่จึงจะทราบถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าได้ ดังนี้ เครื่องหมายการค้าคำว่า DERMATIX ของโจทก์จึงเป็นคำที่ไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าที่ขอจดทะเบียนโดยตรง (non-distinctive) ซึ่งไม่ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (1) และมาตรา 7 วรรคสอง (2) (เดิม)

คำพิพากษาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า

เครื่องหมายเชิงแนะนำ (Suggestive Mark) ไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าที่ขอจดทะเบียนโดยตรง (distinctive)

เครื่องหมายที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าที่ขอจดทะเบียนโดยตรง (non -distinctive) จะต้องเข้าใจและสื่อความหมายไปถึงสินค้าหรือบริการนั้นได้อย่างชัดเจนในทันที ถึงจะขัดต่อกฎหมายมาตรา 7 วรรคสอง (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1267/2563

การที่จะพิจารณาว่าคำในภาษาต่างประเทศเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าอันจะทำให้ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2) นั้น นอกจากจะต้องพิจารณาว่าคำดังกล่าวมีคำแปลเป็นภาษาไทยว่าอย่างไรแล้ว ยังต้องคำนึงถึงการใช้คำดังกล่าวในประเทศไทยด้วยว่าคำดังกล่าวถูกนำมาใช้ในความหมายหรือในลักษณะใด และต้องพิจารณาต่อไปว่าคำดังกล่าวเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์ใกล้ชิดกับลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงจนถึงขนาดทำให้เมื่อสาธารณชนเห็นเครื่องหมายการค้าดังกล่าวแล้วก็จะทราบถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นได้ในทันทีหรืออาจใช้วิจารณญาณเพียงเล็กน้อยก็สามารถเข้าใจได้ในทันทีว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสื่อให้เห็นถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นได้ ในขณะที่เครื่องหมายการค้าที่มีความหมายเป็นการบรรยายถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นทางอ้อม ผู้ใช้สินค้าจะต้องใช้ความคิดและจินตนาการหรือแปลความหมายที่ซ้ำซ้อนกันนั้นอีกชั้นหนึ่งก่อนจึงจะรู้ว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่เกี่ยวข้องกับสินค้าใด หาใช่เป็นเครื่องหมายการค้าที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าที่ขอจดทะเบียนโดยตรงไม่

แอดไลน์