เมื่อประสบกับข้อพิพาทการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เป้าหมายหลักของเจ้าของสิทธิคือ ต้องการได้รับชดใช้ค่าเสียหาย อย่างรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งมีวิธีการดังนี้
ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดย “สำนักงานป้องกันและระงับข้อพิพาทด้านทรัพย์สินทางปัญญา” ของ กรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยการใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการ การประนอมข้อพิพาท ซึ่งคู่พิพาทเลือกที่จะระงับข้อพิพาทโดยไม่นำคดีขึ้นสู่ศาล ในทางสากลเรียกกระบวนการนี้ว่า การระงับข้อพิพาททางเลือก โดย ข้อพิพาทด้านทรัพย์สินทางปัญญา หมายถึง ข้อขัดแย้งเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาทุกประเภท ซึ่งหมายถึง สิทธิบัตร เครื่อง หมายการค้า ลิขสิทธิ์ ผังภูมิวงจรรวม ความลับทางการค้า สิ่งบ่ง ชี้ทางภูมิศาสตร์ ชื่อทางการค้า การคุ้มครองพันธุ์พืช และยังรวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก่ สัญญาค่าตอบแทนการใช้ลิขสิทธิ์ สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรหรือเครื่องหมายการค้า ฯลฯ หาก กรณีที่ตกลงกันไม่ได้ คู่กรณีอาจนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ หรือ นำคดีเข้าสู่ศาล
ขั้นตอนพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ คู่กรณีเลือก อนุญาโตตุลาการตามจำนวนที่ตกลงกันไว้ ( 1 คน หรือ 3 คน แล้วแต่กรณี ) ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ขึ้นทะเบียนผู้ที่จะเป็นอนุญาโตตุลาการในสาขาต่างๆไว้ อนุญาโตตุลาการก็จะนัดพร้อมคู่พิพาท เพื่อสอบถามถึงประเด็นปัญหาข้อพิพาท และจะกำหนดประเด็นและหน้าที่นำสืบ ทั้งพยานเอกสาร และพยานบุคคล ซึ่งอนุญาโตตุลาการก็จะกำหนดเวลาการสืบพยานแต่ละฝ่าย การพิจารณาข้อพิพาทของอนุญาโตตุลาการเป็นโดยวิธีลับ โดยจะต้องพิจารณาและทำคำชี้ขาดภายใน 90 วัน ( แต่สามารถขยายเวลาได้อีกไม่เกิน 90 วัน ) รวมแล้วไม่เกิน 180 วัน ภายหลังจากที่อนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดแล้วคู่พิพาทถือว่ามีผลผูกพัน คู่กรณีที่จะต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดนั้น หากคู่พิพาทไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ฝ่ายชนะคดีอาจยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อบังคับตามคำชี้ขาด ( เป็นข้อกำหนดตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545)
ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดย “ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง” ซึ่งในภายหลังจากคู่ความได้นำคดีขึ้นสู่ศาลแล้ว คู่ความอาจตกลงกันเลือกระงับข้อพิพาทโดยวิธีการไกล่เกลี่ยก็ได้ ในการนี้ศาลได้อำนวยความสะดวกแก่คู่ความ ที่เลือกใช้วิธีการไกล่เกลี่ยโดยจัดให้มีห้องไกล่เกลี่ย ซึ่งมีบรรยากาศผ่อน คลายสำหรับการเจรจาปรึกษาหารือ หากคู่ความเป็นชาวต่างประเทศ ก็ได้จัดให้มีการไกล่เกลี่ยเป็นภาษาอังกฤษด้วยและศาลได้ออกระเบียบ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อ พิพาท เพื่อให้การดำเนินการมีความเหมาะสม เป็นธรรม สะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันถือได้ว่าการไกล่เกลี่ยในศาลประสบผลสำเร็จ อย่างดียิ่ง โดยคู่ความต่างพอใจในระบบการไกล่เกลี่ยทั้งผลของการไกล่เกลี่ย และความสัมพันธ์อันดีที่มีต่อกัน
ขั้นตอนพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญาเกี่ยวกับ ทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศดังต่อไปนี้ คดีอาญาเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก่ คดีอาญาเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์และคดีอาญาเกี่ยวกับความผิดทางการค้าตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 271 – 275
คดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก่ คดีแพ่งเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และคดีพิพาทตามสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ
คดีแพ่งหรือคดีอาญาเกี่ยวกับข้อพิพาทในการออกแบบวงจรรวม การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ชื่อทางการค้า ชื่อทางภูมิศาสตร์ที่แสดงถึงแหล่งกำเนิดของสินค้า ความลับทางการค้าและการคุ้มครองพันธุ์พืช
คดีแพ่งเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ ได้แก่ คดีแพ่งเกี่ยวกับการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้าหรือตราสารการเงินระหว่างประเทศ การให้บริการระหว่างประเทศ การขนส่งระหว่างประเทศ การประกันภัยและนิติกรรมอื่นที่เกี่ยวเนื่อง คดีแพ่งเกี่ยวกับเลตเตอร์ออฟเครดิต ทรัสต์รีซีท รวมทั้งการประกันภัยเกี่ยวกับกิจการดังกล่าว คดีแพ่งเกี่ยวกับการกักเรือ การทุ่มตลาด และการอุดหนุนสินค้าหรือการให้บริการจากต่างประเทศ คดีแพ่งหรือคดีอาญาที่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ คดีแพ่งเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการเพื่อระงับข้อพิพาทข้างต้น
โดยการดำเนินคดีในศาลกำหนดให้มีการพิจารณาคดีติดต่อกันโดยไม่เลื่อนคดี เว้นแต่มีเหตุจำเป็น ทำให้การดำเนินคดีในศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศ สะดวก รวดเร็ว และประหยัดอันเป็นลักษณะพิเศษ ซึ่งแตกต่างจากศาลทั่วไป
ข้อมูล : กรมทรัพย์สินทางปัญญา และ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง