การก่อตั้งของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) นำไปสู่การจัดทำแผนอย่างเป็นทางการที่จะใช้ชุมชนทางเศรษฐกิจระหว่าง ประเทศสมาชิก อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย บรูไน เวียดนาม ลาว พม่า กัมพูชา สำหรับเป็นเสาหลักการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community หรือ AEC ) ภายในปี 2558 เพื่อให้อาเซียนมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานฝีมือ อย่างเสรี และเงินทุนที่เสรีขึ้น หนึ่งในวัตถุประสงค์หลักของอาเซียนคือการรวมตัวทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคและมีเป้าหมายที่จะสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยในอนาคต AEC จะเป็นอาเซียน+3 โดยจะเพิ่มประเทศ จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เข้ามาอยู่ด้วย และต่อไปก็จะมีการเจรจา อาเซียน+6 จะมีประเทศ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และ อินเดีย
การเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึงในภูมิภาคอาเซียนรวมทั้งความกังวลด้านทรัพย์สินทางปัญญาโดยเฉพาะอย่างยิ่งมุมมองของการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าในภูมิภาค เช่น เครื่องหมายการค้าสามมิติ (3D) เครื่องหมายการค้าเสียง เครื่องหมายการค้ากลิ่น ระบบการบังคับใช้เครื่องหมายการค้า ระบบศุลกากรซึ่งทำหน้าที่ยับยั้งการนำเข้าสินค้าที่ละเมิดเครื่องหมายการค้า รวมถึงปัญหาเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันที่ในแต่ละประเทศอธิปไตยของตนรับจดทะเบียนไว้แล้ว เป็นต้น
ในการเข้า สู่ AEC ไทยไม่ต้องยอมรับพันธกรณีด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดเกินกว่าพันธกรณีของไทยภายใต้ WTO โดยในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ไทยจะต้องดำเนิน การตามแผนปฏิบัติการด้านทรัพย์สินทางปัญญาอาเซียน ปี 2554-2558 (ASEAN IPR Action Plan 2011-2015) ซึ่งเป็นแผนความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา โดยครอบคลุมกิจการต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น การเข้าเป็นภาคีความตกลงระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาระบบการรับจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาได้แก่พิธีสารมาดริดสำหรับเครื่องหมายการค้าและความตกลงกรุงเฮกด้านสิทธิบัตรการออกแบบ การแลกเปลี่ยนผลการตรวจสอบสิทธิบัตรภายใต้โครงการASPEC การฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพผู้ตรวจสอบเครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร และ สิทธิบัตรการออกแบบ การเผยแพร่ข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญาอาเซียน (IP Portal) เป็นต้น
อย่างไรก็ตามเป้าหมาย ด้านทรัพย์สินทางปัญญา ของ AEC ไม่ขยายไปถึงเครื่องหมายการค้าชุมชน ดังเช่น Community Trademark ของยุโรป จำนวน 27 ประเทศ เพื่อให้ มีการป้องกันการละเมิดที่ง่ายราคาไม่แพงและมีประสิทธิภาพ ประเด็นปัญหาน่าจะเป็นเพราะ ความไม่พร้อมของรัฐสมาชิก เช่น พม่า ก็ยังไม่สามารถใช้ระบบการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าในระบบที่เป็นมาตรฐาน นอกจากนั้นอาเซียนมีเพียง 10 ประเทศสมาชิก เมื่อเทียบกับ 27 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ทำให้การจดทะเบียนคุ้มครองเป็นเพียงกลุ่มประเทศขนาดเล็ก ซึ่งในเวลานั้นสำหรับประเทศไทย พิธีสารมาดริดก็ยังคงเป็นวิธีที่ทดแทนได้ อย่างไรก็ตาม เครื่องหมายการค้าชุมชน มีแนวโน้มการจัดตั้งระบบที่สามารถกำหนดเงื่อนไขที่ง่ายและประหยัดได้ดีกว่า ดังนั้นการเตรียมความพร้อมจึงต้องดำเนินการในลักษณะการยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในแต่ละประเทศไว้ก่อน
Recent Post
Line ID: @tgcthailand