งานอันมีลิขสิทธิ์ตามสัญญาจ้างแรงงานกับสัญญาจ้างทำของ

งานอันมีลิขสิทธิ์ ได้แก่ งานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ หรือ งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะของผู้สร้างสรรค์ ไม่ว่างานดังกล่าวจะแสดงออกโดยวิธีหรือรูปแบบอย่างใดการคุ้มครองลิขสิทธิ์ไม่คลุมถึงความคิด หรือขั้นตอน กรรมวิธี หรือระบบ หรือวิธีใช้หรือ ทำงาน หรือแนวความคิด หลักการ การค้นพบ หรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์
ตามหลักการพื้นฐาน ผู้สร้างสรรค์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานที่ตนได้สร้างสรรค์ขึ้น ซึ่งเจ้าของลิขสิทธิ์ย่อมมีสิทธิ แต่ผู้เดียวที่จะ ทำซ้ำหรือดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ และสิ่งบันทึกเสียง ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิ
อย่างไรก็ตามการสร้างสรรค์จะเข้าไปมีจุดเกาะเกี่ยวตามสัญญาจ้างแรงงานกับสัญญาจ้างทำของตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ คือ
-สัญญาจ้างแรงงาน
งานที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้นในฐานะพนักงานหรือลูกจ้าง ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ให้ลิขสิทธิ์ใน งานนั้นเป็นของผู้สร้างสรรค์ แต่นายจ้างมีสิทธินำงานนั้นออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ตามที่เป็นวัตถุประสงค์ แห่งการจ้างแรงงานนั้น
-สัญญาจ้างทำของ
งานที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการรับจ้างบุคคลอื่น ให้ผู้ว่าจ้างเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานนั้น เว้นแต่ผู้สร้างสรรค์และ ผู้ว่าจ้างจะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น
แม้สัญญาจ้างแรงงานกับสัญญาจ้างทำของจะมีลักษณะที่คล้ายกันคือ ลูกจ้างหรือผู้รับจ้างต่างก็ต้องทำงานให้แก่นายจ้างหรือผู้ว่าจ้าง และนายจ้างหรือผู้ว่าจ้างตกลงจ่ายสินจ้างแก่ลูกจ้างหรือผู้รับจ้างเป็นการตอบแทนเช่นกัน แต่ก็มีลักษณะที่แตกต่างกันที่สำคัญคือ ตามสัญญาจ้างแรงงานนั้นลูกจ้างต้องทำงานให้นายจ้างตามวัตถุประสงค์แห่งสัญญาจ้างแรงงานที่ตกลงกันโดยไม่จำเป็นต้องมีการตกลงกันโดยมุ่งประสงค์ต่อผลสำเร็จของการงานอันใดอันหนึ่งโดยเฉพาะ หรือคิดค่าตอบแทนจากผลสำเร็จของการงานที่ตกลงกันแต่อย่างใด นายจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานมีสิทธิบังคับบัญชามอบหมายและควบคุมกำกับการทำงานของลูกจ้างให้ทำงานใด ๆ ภายใต้ข้อตกลงเกี่ยวกับหน้าที่และสภาพการจ้างงานนั้นได้
ส่วนสัญญาจ้างทำของนั้น ผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างจะมีเจตนามุ่งประสงค์ต่อความสำเร็จของงานอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างตามข้อตกลงที่ว่าจ้างให้ทำกัน โดยถือเอาผลสำเร็จของการงานที่ตกลงให้ทำกันนั้นเป็นสาระสำคัญ โดยผู้ว่าจ้างมิได้มีสิทธิบังคับบัญชาสั่งการผู้รับจ้างแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2189 – 2190/2548
การที่โจทก์ทั้งสองทำงานวาดภาพนกให้แก่ บ. นั้นก็เพื่อใช้ประกอบหนังสือ “A Guide to the Birds of Thailand” ที่ บ. จะจัดทำขึ้น โดยในการวาดภาพต้องทำให้สอดคล้องกับข้อมูลทางวิชาการที่เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับนกแต่ละวงศ์แต่ละชนิด ต้องใช้ซากนกที่ บ. เก็บรวบรวมไว้จำนวนมาก และต้องเดินทางไปดูนกในสภาพธรรมชาติ กับยังต้องค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม ทำให้การวาดภาพนกนี้ต้องใช้เวลานานหลายปี และเป็นกรณีจำเป็นที่จะต้องให้โจทก์แต่ละคนทำงานที่สถานที่ทำงานของ บ. เพื่อความสะดวกในการเทียบเคียงข้อมูลและประสานข้อมูลการบรรยายด้วยข้อความกับภาพวาดให้สอดคล้องต้องกัน ทั้งยังได้ความว่าในการทำงานวาดภาพนก บ. ไม่ได้กำหนดให้โจทก์ที่ 1 วาดภาพนกเป็นตัว ๆ แต่จะกำหนดเป็นวงศ์ แล้วโจทก์ที่ 1 จะวาดภาพนกในวงศ์นั้นทั้งหมด การกำกับดูแลของ บ. เป็นเพียงการเร่งรัดงานเท่านั้น สำหรับโจทก์ที่ 2 ก็วาดภาพโดยได้รับคำแนะนำให้ข้อมูลจาก ฟ. และดูตัวอย่างจากซากนก กับข้อมูลจากหนังสือต่าง ๆ หาก ฟ. หรือ บ. เห็นว่าไม่ถูกต้อง และแจ้งให้โจทก์ที่ 2 ทราบ ถ้าโจทก์ที่ 2 เห็นด้วยก็จะแก้ไข แต่ถ้าไม่เห็นด้วยก็จะไม่แก้ไข อันเป็นการแสดงว่าโจทก์ทั้งสองทำงานวาดภาพโดยมีอิสระในการทำงานมาก มิใช่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาเยี่ยงที่นายจ้างมีต่อลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานแต่อย่างใด และในการเดินทางไปดูนกในสภาพตามธรรมชาติก็ยังปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งผิดปกติวิสัยของผู้เป็นลูกจ้าง ทั้งเมื่อโจทก์ทั้งสองวาดภาพเพื่อประกอบการทำหนังสือดังกล่าวแล้วเสร็จ โจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้ทำการวาดภาพหรือทำงานกับ บ. หรือจำเลยที่ 1 อีกแต่อย่างใด เห็นได้ว่าสภาพการทำงานให้แก่ บ. ของโจทก์ทั้งสองดังกล่าว บ. จะมุ่งประสงค์ถึงความสำเร็จในการจัดทำหนังสือเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องยากที่จะกำหนดจำนวนงานได้แต่แรก เพราะต้องศึกษาค้นคว้าข้อมูลและศึกษาดูนกกับวาดภาพนกเพิ่มเติมจนกว่าจะเห็นว่ามีข้อมูลและภาพวาดที่สมบูรณ์เป็นที่พอใจที่จะรวมจัดพิมพ์เป็นหนังสือได้ การที่จ่ายค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นรายเดือนในพฤติการณ์การทำงานในระยะเวลาที่ยาวนานเช่นนี้จึงอาจเป็นการแบ่งจ่ายค่าจ้างทำของให้เหมาะสมแก่สภาพงานในลักษณะดังกล่าว เพื่อมิให้เป็นการเอาเปรียบโจทก์แต่ละคนและเป็นประโยชน์แก่โจทก์ทั้งสองที่ไม่ต้องรอรับค่าตอบแทนเมื่องานเสร็จสิ้นในภายหลังที่เป็นระยะเวลาที่ยาวนานมากเช่นนั้น ตามพฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่า การวาดภาพนกของโจทก์ทั้งสองเป็นไปตามสัญญาจ้างทำของ และเมื่อไม่ปรากฏว่ามีข้อสัญญาเป็นอย่างอื่น ลิขสิทธิ์จึงตกเป็นของผู้ว่าจ้าง มิใช่ตกเป็นของโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ผู้รับจ้าง

แอดไลน์