13
May2023

โดน ละเมิด เครื่องหมายการค้าต้องทำอย่างไร ?

ในการประกอบธุรกิจในปัจจุบัน กล่าวได้ว่า เครื่องหมายการค้า คือสัญลักษณ์ในการสร้างความจดจำ เพื่อให้สาธารณชนสามารถแยกแยะสินค้าแหล่งกำเนิดของสินค้าได้และไม่ทำให้เกิดความสับสนหลงผิด

ตัวอย่างเครื่องหมายการค้า-google

 

การจดทะเบียนคือก้าวแรกในการขอรับความคุ้มครอง และ รองรับสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นแต่เพียงผู้เดียว (Exclusive Rights) เพื่อทำการฟ้องร้องและห้ามคนอื่นมาลอกเลียนแบบได้ นอกจากนั้นยังสามารถให้สิทธิในการใช้เครื่องหมายดังกล่าว (licensing) หรือ โอนเครื่องหมายการค้าให้ผู้อื่น (transferring of trademark ownership) และ ดำเนินคดีฟ้องร้องละเมิดเครื่องหมาย (litigation)

พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534

มาตรา 108 บุคคลใดปลอมเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรองหรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสี่ปีหรือปรับไม่เกินสี่แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 109 บัญญัติว่า บุคคลใดเลียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรองหรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 46 บุคคลใดจะฟ้องคดี เพื่อป้องกันสิทธิการละเมิดในเครื่องหมายการค้า ที่ไม่ได้จดทะเบียน หรือ เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดสิทธิดังกล่าวไม่ได้

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 272 ผู้ใด
(1) เอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ หรือทำให้ปรากฏที่สินค้า หีบ ห่อ วัตถุที่ใช้หุ้มห่อ แจ้งความ รายการแสดงราคา จดหมายเกี่ยวกับการค้าหรือสิ่งอื่นทำนองเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของผู้อื่นนั้น
(2) เลียนป้าย หรือสิ่งอื่นทำนองเดียวกันจนประชาชนน่าจะหลงเชื่อว่าสถานที่การค้าของตนเป็นสถานที่การค้าของผู้อื่นที่ตั้งอยู่ใกล้เคียง
(3) ไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความเท็จเพื่อให้เสียความเชื่อถือในสถานที่ การค้า สินค้า อุตสาหกรรมหรือพาณิชย์การของผู้หนึ่งผู้ใด โดยมุ่งประโยชน์แก่การค้าของตน
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ความผิดตามมาตรานี้เป็นความผิดอันยอมความได้
มาตรา 273 ผู้ใดปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น ซึ่งได้จดทะเบียนแล้ว ไม่ว่าจะได้จดทะเบียนภายในหรือนอกราชอาณาจักร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 274 ผู้ใดเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นซึ่งได้จดทะเบียนแล้ว ไม่ว่าจะได้จดทะเบียนภายในหรือนอกราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดีทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

 

คำถามคือ เครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียน จะทำอย่างไร? เมื่อเกิดการละเมิด

ฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 18 สิทธิของบุคคลในการที่จะใช้นามอันชอบที่จะใช้ได้นั้นถ้ามีบุคคลอื่นโต้แย้งก็ดี หรือบุคคลผู้เจ้าของนามนั้นต้องเสื่อมเสียประโยชน์เพราะการที่มีผู้อยู่มาใช้นามเดียวกัน โดยมิได้รับอำนาจให้ใช้ได้ก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้เจ้าของนามจะเรียกให้บุคคลอื่นนั้นระงับความเสียหายก็ได้ ถ้าและเป็นที่พึงวิตกว่าจะต้องเสียหายอยู่สืบไป จะร้องขอต่อศาลให้สั่งห้ามก็ได้

แต่มาตรา 18 ค่อนข้างมีข้อจำกัดหลายส่วน เพราะต้องมีการใช้ในลักษณะที่มีความแพร่หลายจนประชาชนทั่วไปรู้จัก แต่ไม่ได้มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ปัจจุบันการใช้มาตรา 18 มาฟ้องรร้องมีน้อยมากเพราะส่วนใหญ่ต้องทำการยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าก่อน

ตัวอย่างในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9277/2547 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในขณะที่ พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ใช้บังคับอยู่ ดังนี้ โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “โต๊ะกัง” และ “ตั้งโต๊ะกัง” ที่เป็นภาษาไทย จีน และอังกฤษ ซึ่งเขียนว่า “TOH KANG” และ “TANG TOH KANG” มาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษของโจทก์ที่ 2 โดยใช้กับสินค้าจำพวกทองคำ คำดังกล่าวเป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ไม่ได้มีความหมายว่าทองคำหรือเกี่ยวข้องกับทองคำแต่อย่างใด หากแต่เป็นชื่อสกุลของบรรพบุรุษของฝ่ายโจทก์ที่ประกอบกิจการค้าทองคำติดต่อกันมาตั้งแต่ก่อนปี 2464 เป็นเวลากว่า 80 ปีแล้ว และยังใช้คำว่า “ตั้งโต๊ะกัง” เป็นชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ที่ 1 ตลอดมาด้วย

ส่วนจำเลยที่ 1 เพิ่งมาประกอบกิจการร้านทองในลักษณะเดียวกับโจทก์ทั้งสองเมื่อปี 2515 และต่อมาในปี 2531 ถึงปี 2532 จำเลยทั้งสองนำชื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองใช้เป็นชื่อห้างย่อมทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดว่าสถานประกอบการค้าทองของจำเลยทั้งสองเป็นสถานประกอบการค้าทองของโจทก์ทั้งสองหรือเป็นสถานประกอบการค้าทองที่โจทก์ทั้งสองมีส่วนรวมอยู่ด้วย เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายจากการสับสนหรือหลงผิดดังกล่าวได้เช่นกัน เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ทั้งสองให้ใช้ชื่อทางการค้าคำว่า “โต๊ะกัง” เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อสิทธิในชื่อทางการค้าของโจทก์ทั้งสอง แม้โจทก์จะไม่ได้ต่ออายุชื่อเครื่องหมายการค้าของตนจนแต่ก็ไม่ทำให้สิทธิในชื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์เสียไป โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเนื่องจากการใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์ทั้งสองโดยไม่ชอบนั้นได้ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 18 และ มาตรา 420

ดังนั้น การยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าก่อนย่อมมีสิทธิดีกว่าในการฟ้องร้องบังคับใช้ตามกฎหมายได้ เพราะหากมีจดทะเบียนและมีผู้กระทำละเมิดเครื่องหมายการค้า นั่นย่อมส่งผลกระทบต่อยอดขาย ภาพลักษณ์และอื่นๆอีกมากมาย ดังนั้นประการแรกเจ้าของแบรนด์จึงควรจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้ครอบคลุมโลโก้และแบรนด์ของเราให้ได้มากที่สุด

ทั้งนี้หากใครมีความสงสัยเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า หรือทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ หรือต้องการขอคำปรึกษาเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา สามารถติดต่อสอบถามเข้ามาได้ ทั้งทางช่องทางไลน์และโทรศัพท์กับเรา TGC Thailand ได้ ซึ่งเป็นช่องทางที่ทั้งง่ายและสะดวก

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

แอดไลน์