21
Jun2023

Key Takeaways

  • GMP คือ หลักเกณฑ์วิธีการและการปฏิบัติที่ดีในการผลิตสินค้าจำพวกอาหาร โดย GMP ย่อมาจาก Good Manufacturing Practice ซึ่งเอาไว้ควบคุมคุณภาพสินค้าด้วยข้อกำหนดขั้นพื้นฐานที่สำคัญและจำเป็นต่อกระบวนการผลิต 
  • ข้อกำหนดทั่วไปของ GMP ประกอบด้วย สถานที่ตั้งและอาคารผลิต, เครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ในการผลิต, การควบคุมกระบวนการผลิต, การสุขาภิบาล, การบำรุงรักษาและการทำความสะอาด รวมถึงบุคลากรและสุขลักษณะผู้ปฏิบัติงาน

 

GMP คือหนึ่งสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ที่เจ้าของกิจการทุกคนต้องรู้และทำความเข้าใจให้ดี เพราะหลังจากที่เริ่มมีความคิดอยากจะเป็นเจ้าของกิจการ ไม่ว่าจะทำแบรนด์เครื่องสำอางหรือทำน้ำสมุนไพรขาย ก็จะต้องเจอกับคำว่า GMP ผ่านเข้ามาในหัวเต็มไปหมด ซึ่งหลาย ๆ คนอาจจะยังไม่เข้าใจและยังสงสัยว่า GMP ย่อมากจากอะไร วันนี้ TGC Thailand เลยอยากมาแชร์ข้อมูลสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวกับมาตรฐาน GMP ที่เจ้าของกิจการหรือเจ้าของโรงงานควรรู้

 

 

GMP คืออะไร?

GMP คืออะไร

ภาพ: GMP คืออะไร

“ มาตรฐานสำคัญที่ทุกโรงงานพึงมี ”

ไม่ว่าจะในฐานะผู้บริโภคหรือผู้ผลิตเองก็ล้วนต้องเคยได้ยินคำว่า GMP ผ่านหูมาบ้างไม่มากก็น้อย โดย GMP ย่อมาจาก Good Manufacturing Practice ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์วิธีการและการปฏิบัติที่ดีในการผลิตสินค้าจำพวกอาหาร โดยจะมีข้อกำหนดขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ที่สำคัญและจำเป็นต่อกระบวนการผลิต เพื่อใช้เป็นตัวควบคุมคุณภาพสินค้า

โดยที่ผู้ผลิตหรือเจ้าของแบรนด์ต้องทำตามเพื่อสร้างความปลอดภัยและลดความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอันตรายกับผู้บริโภค และอีกหนึ่งสิ่งที่เจ้าของแบรนด์หรือเจ้าของโรงงานต้องรู้คือ GMP คือมาตรฐานขั้นต้นที่โรงงานทุกโรงงานพึงมี ก่อนจะก้าวเข้าสู่มาตรฐานอื่น ๆ ต่อไป อย่าง HACCP หรือ ISO 9000 นั่นเอง

 

 

GMP มีทั้งหมดกี่ประเภท?

โรงงานผลิตอาหาร

ภาพ: โรงงานผลิตอาหาร

 

1. GMP สุขลักษณะทั่วไป (General GMP)

เป็นประเภทของ GMP ที่พบได้บ่อยที่สุด เพราะเป็นหลักเกณฑ์การปฏิบัติที่เอาไว้ใช้กับผลิตภัณฑ์อาหารทุกประเภท โดยมีข้อกำหนดใหญ่ ๆ เกี่ยวกับตัวโรงงาน อุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต กระบวนการผลิต สุขอนามัย ความสะอาด รวมถึงบรรดาพนักงานด้วย

2. GMP เฉพาะผลิตภัณฑ์ (Specific GMP)

นอกจากจะมี GMP ที่เป็นมาตรฐานสุขลักษณะทั่วไปแล้ว ก็ยังมี GMP เฉพาะผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นข้อกำหนดพิเศษเพิ่มเติมจาก GMP ปกติทั่วไป ที่จะเน้นและใส่ใจในความปลอดภัย รวมถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในผลิตภัณฑ์นั้น ๆ โดยเฉพาะ เช่น น้ำดื่ม ที่มีข้อกำหนดเรื่องแหล่งน้ำ การปรับคุณภาพน้ำ ภาชนะบรรจุ การฆ่าเชื้อ และการบรรจุ ที่เพิ่มเติมเข้ามา เป็นต้น

 

 

หลักการสำคัญของ GMP

GMP

ภาพ: GMP

“ ให้ความสำคัญกับทุกขั้นตอน ”

หลายคนอาจเข้าใจกว่า GMP คือมาตรฐานที่เน้นเรื่องกระบวนการผลิตเท่านั้น แต่ที่จริงแล้วมาตรฐาน GMP คือครอบคลุมตั้งแต่ตัวโรงงานหรือสถานที่ประกอบการ อย่างโครงสร้างอาคารที่ต้องได้มาตรฐาน รวมถึงขั้นตอนการผลิตก็ต้องปลอดภัยและได้คุณภาพ ตลอดจนวิธีการขนส่งสินค้าที่ต้องมีระบบการจัดการที่ดีอีกด้วย

 

 

ข้อกำหนดทั่วไปของ GMP

1. สถานที่ตั้งและอาคารผลิต

สถานที่ตั้งและอาคารผลิต

ภาพ: สถานที่ตั้งและอาคารผลิต

เป็นข้อกำหนดเริ่มต้นของ GMP ที่เกี่ยวกับสถานที่ตั้งของตัวโรงงานที่ใช้ในการผลิตสินค้านั้น ๆ โดยสถานที่ตั้งโรงงานและบริเวณรอบ ๆ จะต้องอยู่ในที่ที่ยากต่อการปนเปื้อน

  • ทุกอย่างต้องสะอาด ไม่มีการหมักหมมของสิ่งปฏิกูล ที่ก่อให้เกิดแมลงหรือเชื้อโรคต่าง ๆ
  • อยู่ห่างจากบริเวณที่มีฝุ่นมากเกินไปหรือสถานที่ที่มีความสกปรก
  • โดยรอบโรงงานต้องมีท่อระบายน้ำเพื่อไม่ให้มีน้ำขังเฉอะแฉะ

ขนาดของตัวโรงงานต้องเหมาะสมและสะดวกต่อการทำงาน การซ่อมแซม และการทำความสะอาด

  • พื้น ผนัง และเพดานโรงงาน ต้องเรียบและแข็งแรง โดยต้องดูแลให้อยู่ในสภาพที่ดีตลอดเวลา
  • แยกโซนให้เป็นสัดส่วน โดยโซนผลิตอาหารต้องไม่รวมกับโซนที่อยู่อาศัย
  • มีมาตรการป้องกันสัตว์และแมลงไม่ให้เข้าไปในโรงงาน
  • พื้นที่ต้องเพียงพอต่อการติดตั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตอาหาร
  • ในโซนการผลิตต้องไม่มีสิ่งของที่ไม่เกี่ยวข้อง
  • แสงสว่างต้องเพียงพอและต้องมีระบบระบายอากาศที่เหมาะสม

 

2. เครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ในการผลิต

เครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ในการผลิต

ภาพ: เครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ในการผลิต

สำหรับข้อกำหนด GMP ในข้อนี้คือจะเน้นในเรื่องเครื่องมือที่ใช้ในการผลิตอาหารเป็นหลัก เพื่อควบคุมให้สินค้าอาหารนั้น ๆ ได้คุณภาพ สะอาด และถูกสุขอนามัยมากที่สุด

  • อุปกรณ์ที่ต้องสัมผัสกับอาหารโดยตรง จะต้องทำจากวัสดุที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
  • โต๊ะที่ใช้ในกระบวนการผลิต ต้องทำจากวัสดุที่ไม่เกิดสนิม ทำความสะอาดง่าย ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และต้องมีความสูงที่เหมาะสมต่อการทำงาน
  • การติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงการปนเปื้อนและการทำความสะอาดที่ง่ายและทั่วถึง
  • จำนวนอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต ต้องเพียงพอต่อการทำงาน

 

 3. การควบคุมกระบวนการผลิต

การควบคุมกระบวนการผลิต

ภาพ: การควบคุมกระบวนการผลิต

นอกจากตัวโรงงานและอุปกรณ์ที่ต้องได้มาตรฐาน GMP แล้ว กระบวนการผลิตก็ต้องมีคุณภาพเช่นกัน ตั้งแต่ขั้นตอนการตรวจรับวัตถุดิบ การขนย้าย การจัดเตรียม การผลิตและบรรจุอาหาร การเก็บรักษา ไปจนถึงขั้นตอนการขนส่ง

  • วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหารต้องสะอาดและมีคุณภาพ ส่วนการล้างทำความสะอาด การเก็บรักษาวัตถุดิบ และการหมุนเวียนสต็อก ก็ต้องมีประสิทธิภาพเช่นกัน
  • ภาชนะที่ต้องสัมผัสกับอาหาร ต้องอยู่ในสภาพที่เหมาะสมและไม่ก่อให้เกิดการปนเปื้อน
  • น้ำ น้ำแข็ง หรือไอน้ำที่ต้องสัมผัสกับอาหาร ต้องได้มาตรฐานตามกระทรวงสาธารณสุข
  • ขั้นตอนการผลิต การเก็บรักษา การขนย้าย และการขนส่ง ต้องไม่ปนเปื้อน

นอกจากกระบวนการผลิตตามข้างบนจะสำคัญมาก ๆ แล้ว แต่ก็ยังต้องมีกระบวนการจดบันทึกและรายงานผลต่าง ๆ ดังนี้

  • ผลการตรวจและวิเคราะห์ตัวสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้น ๆ
  • ประเภทของสินค้า ปริมาณการผลิต และวันเดือนปีที่ผลิต โดยให้บันทึกไว้อย่างน้อย 2 ปี

 

4. การสุขาภิบาล

การสุขาภิบาล

ภาพ: การสุขาภิบาล

แน่นอนว่าขั้นตอนการผลิตอาหารจำเป็นจะต้องใช้น้ำในกระบวนการผลิตและต้องใส่ใจเรื่องสุขอนามัยมากเป็นพิเศษ ดังนั้น GMP คือหนึ่งในเครื่องมือที่จะมาช่วยควบคุมเรื่องสุขอนามัยได้อย่างตรงจุด

  • น้ำที่ใช้ภายในโรงงานจะต้องสะอาดและมีการปรับคุณภาพน้ำตามความจำเป็น
  • มีห้องน้ำและอ่างล้างมือด้านหน้าที่เพียงพอและถูกสุขลักษณะ และต้องแยกจากโซนการผลิต
  • มีอ่างล้างมือให้ในโซนการผลิต พร้อมอุปกรณ์ล้างมืออย่างครบถ้วน
  • มีมาตรการป้องกันและกำจัดสัตว์และแมลงในโซนการผลิต
  • มีถังขยะไว้ใส่ขยะมูลฝอยและต้องมีฝาปิดมิดชิด พร้อมระบบกำจัดขยะมูลฝอยที่เหมาะสม
  • มีทางระบายน้ำทิ้งที่มีประสิทธิภาพและไม่ก่อให้เกิดการปนเปื้อน

 

5. การบำรุงรักษาและการทำความสะอาด

การบำรุงรักษาและการทำความสะอาด

ภาพ: การบำรุงรักษาและการทำความสะอาด

ไม่ว่าโรงงานจะเปิดมานานแค่ไหน ทุกอย่างในโรงงานก็ต้องสะอาดได้มาตรฐานตามที่ GMP กำหนดเอาไว้ โดยทุกส่วนของโรงงานจะต้องสามารถทำความสะอาดและซ่อมแซมได้อย่างสะดวก

  • อาคารโรงงานต้องถูกดูแลรักษาและทำความสะอาดให้อยู่ในสภาพที่ถูกสุขลักษณะเสมอ
  • อุปกรณ์ทั้งหมดที่ใช้ในการผลิตต้องถูกทำความสะอาดทั้งก่อนและหลังการผลิต
  • อุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต ต้องถูกตรวจเช็กและคอยบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ
  • หากต้องใช้สารเคมีในการทำความสะอาด จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ปลอดภัย

 

6. บุคลากรและสุขลักษณะผู้ปฏิบัติงาน

บุคลากรและสุขลักษณะผู้ปฏิบัติงาน

ภาพ: บุคลากรและสุขลักษณะผู้ปฏิบัติงาน

หัวใจหลักของการผลิต นอกจากตัวโรงงานและอุปกรณ์ต่าง ๆ ก็เป็นตัวพนักงานเองนี่แหละที่ GMP ก็ให้ความสำคัญไม่แพ้กัน โดยพนักงานจะต้องไม่เป็นโรคติดต่อหรือมีบาดแผลที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนลงไปในอาหาร โดยเฉพาะพนักงานที่ต้องสัมผัสกับอาหารโดยตรงจะต้องปฏิบัติตาม ดังนี้

  • ต้องใส่เสื้อผ้าที่สะอาดและเหมาะสมต่อการทำงาน
  • ต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนเริ่มการทำงานและหลังการปนเปื้อน
  • ต้องใช้ถุงมือที่สะอาดและอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ทำจากวัสดุที่ไม่เสี่ยงต่อการปนเปื้อน และของเหลวต้องซึมผ่านไม่ได้
  • ห้ามสวมเครื่องประดับขณะทำงานและต้องดูแลมือและเล็บให้สะอาดอยู่เสมอ
  • ต้องสวมหมวก ตาข่าย หรือผ้าคลุมผม ขณะทำงาน

และที่สำคัญพนักงานทุกคนจะต้องผ่านการฝึกอบรมเกี่ยวกับสุขลักษณะและความรู้ทั่วไปในการผลิตอาหาร

 

 

ประโยชน์ของ GMP

ประโยชน์ของ GMP

ภาพ: ประโยชน์ของ GMP

“ สินค้ามีมาตรฐาน ปลอดภัยมั่นใจได้ ”

  1. ถือเป็นแนวทางในการผลิตที่ดี เพราะเป็นเครื่องมือที่สามารถรับประกันคุณภาพสินค้าได้
  2. ช่วยป้องกันความผิดพลาด ที่อาจจะเกิดขึ้นในกระบวนการผลิต
  3. ช่วยรักษามาตรฐานความสะอาด เพราะมีการควบคุมสภาพแวดล้อมให้ถูกสุขลักษณะเสมอ
  4. สร้างความสะดวกและปลอดภัย ให้กับพนักงานทุกคนในการทำงาน
  5. ได้สินค้าที่มีคุณภาพในระยะยาว แถมยังช่วยลดต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างดี
  6. ติดตามข้อมูลได้ง่าย และวัดผลการทำงานได้อย่างสะดวก
  7. สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ช่วยขยายฐานกลุ่มลูกค้าให้เพิ่มจำนวนขึ้นได้

 

ทั้งหมดนี้คือข้อมูลสำคัญ ๆ ที่ช่วยตอบคำถามเรื่อง GMP คืออะไร หรือ GMP ย่อมาจากอะไร ที่น่าจะช่วยให้ทุกคนคลายสงสัยกันได้แล้ว ซึ่ง GMP คือหนึ่งในมาตรฐานจำเป็นที่ทุกโรงงานพึงมี และหากเจ้าของแบรนด์คนไหนอยากจด อย. ให้กับสินค้าตัวเอง ก็ต้องผลิตสินค้าในโรงงานที่ผ่านมาตรฐาน GMP เสียก่อน ส่วนแบรนด์ไหนมีโรงงานที่ผ่าน GMP แล้ว ก็สามารถมาใช้บริการรับจด อย. กับเรา TGC Thailand ได้ ซึ่งเป็นช่องทางที่ทั้งง่าย สะดวก แถมยังช่วยประหยัดเวลาได้อีกด้วย

 

TGC Thailand ผู้ให้บริการรับจด อย. โดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญ

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

แอดไลน์