พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. สิทธิบัตร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒ ระบุว่า
มาตรา ๔๕ ผู้ทรงสิทธิบัตรจะขอให้บันทึกคำยินยอมให้บุคคลอื่นใช้สิทธิตาม สิทธิบัตรของตนลงในทะเบียนสิทธิบัตรตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงก็ได้
เมื่อได้บันทึกคำยินยอมลงในทะเบียนสิทธิบัตรแล้วและมีผู้มาขอใช้สิทธิบัตรนั้น ให้อธิบดีอนุญาตให้บุคคลซึ่งขอใช้สิทธิตามสิทธิบัตรนั้นใช้สิทธิบัตรได้ ตามเงื่อนไขข้อจำกัดสิทธิและค่าตอบแทนในการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร ที่ผู้ทรงสิทธิบัตรและผู้ขอใช้สิทธิตามสิทธิบัตรตกลงกัน หากทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ภายในระยะเวลาที่อธิบดีกำหนดให้อธิบดีกำหนดเงื่อนไข ข้อจำกัดสิทธิและค่าตอบแทนตามที่อธิบดีพิจารณาเห็นสมควร
คำวินิจฉัยของอธิบดีตามวรรคสอง คู่กรณีอาจอุทธรณ์ต่อคณะ กรรมการภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยนั้น คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
การขอใช้สิทธิและการอนุญาตตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
เมื่อได้มีการบันทึกคำยินยอมตามวรรคหนึ่ง ให้ลดค่าธรรมเนียม รายปีสำหรับสิทธิบัตรนั้นลงตามที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ต้องไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของค่าธรรมเนียมรายปี
กล่าวโดยสรุป ดังนี้
1.สิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรต้องได้รับการจดทะเบียนแล้ว ไม่รวมถึงสิทธิบัตรการออกแบบ
2.ผู้ทรงสิทธิบัตรทำบันทึกคำยินยอมให้บุคคลอื่นใช้สิทธิตาม สิทธิบัตรของตนลงในทะเบียนสิทธิบัตร
3.ลดค่าธรรมเนียม รายปีสำหรับสิทธิบัตรนั้นลงกึ่งหนึ่งของค่าธรรมเนียมรายปี
ปัญหาคือ
1.ผู้ทรงสิทธิบัตรทำบันทึกคำยินยอมให้บุคคลอื่นใช้สิทธิตาม สิทธิบัตรของตนลงในทะเบียนสิทธิบัตร แล้ว ต่อมายกเลิกได้หรือไม่ โดยความเห็นของผู้เขียนน่าจะสามารถยกเลิกได้ อย่างไรก็ตามอาจมีผู้ทรงสิทธิบัตรใช้วิธีการนี้เพื่อลดค่าธรรมเนียม รายปีต่อมาเมื่อมีผู้สนใจมาขอใช้สิทธิบัตร ผู้ขอก็มายกเลิกบันทึกคำยินยอมและนำสิทธิบัตรไปทำสัญญาอนุญาตให้สิทธิใช้อีกฉบับหนึ่ง ซึ่งตามกฎหมายก็สามารถทำได้
แต่ก็มีปัญหาว่า ในกรณีที่ผู้ทรงสิทธิบัตรและผู้ขอใช้สิทธิตามสิทธิบัตร หากทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้
อธิบดีสามารถกำหนดเงื่อนไข ข้อจำกัดสิทธิและค่าตอบแทนตามที่เห็นสมควรได้หรือไม่ โดยความเห็นของผู้เขียนน่าจะสามารถทำได้เนื่องจากผู้ทรงสิทธิบัตรใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเพื่อลดค่าธรรมเนียมรายปี และ การที่มายกเลิกบันทึกคำยินยอมให้บุคคลอื่นใช้สิทธิตามสิทธิบัตรก็เกิดจากการที่มีบุคคลอื่นมาขอใช้สิทธิแล้วถึงได้มายกเลิกและถือเป็นกรณีที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกัน