การคุ้มครองรูปลักษณ์โดยรวมของเว็บไซต์

17
Mar2018

ปัจจุบันมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกเป็นจำนวนมากและแนวโน้มการจำหน่ายสินค้าและการให้บริการทางอินเทอร์เน็ตมีแนวโน้มสูงมากขึ้น ซึ่งหน้าตาของเว็บไซด์ก็คือหน้าตาของร้านค้าของผู้ประกอบกิจการ ดังนั้นการออกแบบเว็บไซด์จะต้องเลือกรูปแบบ การจัดหน้ารายการ การใช้สี กราฟิก ตัวอักษร รูปแบบจะต้องเป็นเอกลักษณ์ น่าสนใจ สวยงาม และ สะดวกต่อการใช้งาน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้ผู้บริโภคเลือกที่จะใช้บริการ

ปัญหาการลอกเลียนแบบเว็บไซด์จึงมีแนวโน้มสูงมากขึ้นตามมาด้วย ซึ่งอาจจะเป็นการเลียนแบบ การออกแบบให้เหมือนในรูปลักษณ์โดยรวมของเว็บไซด์ การกระทำดังกล่าวย่อมส่งผลให้เกิดความสับสนต่อผู้บริโภค จึงเกิดประเด็นที่เกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองสิ่งเหล่านี้ว่าสามารถคุ้มครองรูปลักษณ์โดยรวมของเว็บไซด์ได้หรือไม่

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกรณีของการให้ความคุ้มครองรูปลักษณ์โดยรวมของเว็บไซด์ แบ่งออกเป็นสองกฎหมาย คือ

กฎหมายลิขสิทธิ์ จะคุ้มครองงานที่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน คือ งานวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ อย่างไรก็ตามกฎหมายลิขสิทธิ์จะกำหนดข้อยกเว้นไม่คุ้มครอง ความคิดขั้นตอน กรรมวิธีหรือระบบ หรือวิธีใช้หรือทำงาน หรือแนวความคิด หลักการค้นพบ หรือทฤษฏีทางวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ ซึ่งศาลสหรัฐอเมริกาเคยพิพากษาไม่ให้ความคุ้มครองในส่วนของ hyperlink , icons, task, bars, buttons, pull-own ,pull-out menus เนื่องจากสิ่งดังกล่าวเป็นกรรมวิธีหรือระบบการทำงาน และถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ อย่างไรก็ตามหากเป็นการลอกเลียนทำซ้ำชนิดที่เหมือนกันทั้งหมดจะถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
กฎหมายเครื่องหมายการค้า ลักษณะของเครื่องหมายการค้า จะเป็นคำ ชื่อ ตัวหนังสือ ตัวเลข สัญลักษณ์ รูปร่าง รูปทรงของวัตถุ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน หากวิเคราะห์แล้ว เครื่องหมายการค้าในรูปลักษณ์โดยรวมของเว็บไซด์ จะเต็มไปด้วยข้อมูลหรือเนื้อหา ที่มากเกินไป ประกอบกับมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบเนื้อหาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งทำให้ยากเกินกว่าที่จะก่อให้เกิดคุณลักษณะบ่งเฉพาะ ที่จะได้รับความคุ้มครองในฐานะของเครื่องหมายการค้า

กฎหมายของประเทศอเมริกาได้ให้ความคุ้มครองรูปลักษณ์โดยรวมของผลิตภัณฑ์ ซึ่งศาลเคยตีความว่าหมายถึงภาพทั้งหมด บุคลิกลักษณะ การตกแต่ง เช่น ภาพการ์ดอวยพร บรรจุหีบห่อ นอกเหนือจากตัวเครื่องหมายการค้าเพียงลำพัง ดังนั้นการตีความของศาลน่าจะนำมาใช้กับรูปลักษณ์โดยรวมของเว็บไซด์ได้ ทั้งนี้กฎหมายการคุ้มครองรูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์จะต้องมีลักษณะ

-ต้องไม่มีลักษณะใช้เป็นประโยชน์ คือไม่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ จากรูปลักษณ์ เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อการแข่งขัน
-ต้องมีลักษณะบ่งเฉพาะ
ปัญหาคือการพิจารณาว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะหรือไม่เป็นสิ่งที่ยากสำหรับกรณีการออกแบบเว็บไซด์เนื่องจาก ในทางปฏิบัติ ผู้ออกแบบเว็บไซด์จะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงข้อมูลอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นการยากที่จะแสดงถึงเอกลักษณ์ของเว็บไซด์ได้ ซึ่งศาลอเมริกาเคยพิพากษาว่าเว็บไซด์ที่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ จะทำให้ผู้บริโภคไม่รู้สึกเชื่อมโยง ว่ารูปลักษณ์ของเว็บไซด์ นั้นเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงแหล่งที่มาของเว็บไซด์ ดังนั้นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใดๆ เจ้าของเว็บไซด์จะต้องคำนึงถึงภาพลักษณ์และความรู้สึก ของผู้บริโภคให้เชื่อมโยงไปถึงแหล่งที่มาได้ จึงจะได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายดังกล่าว

สำหรับในประเทศไทยปัญหาดังกล่าวเริ่มที่จะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบกิจการและมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น อย่างไรก็ตามแม้จะมีเว็บไซด์สำเร็จรูปที่นำมาใช้ร่วมกันแต่การให้ความคุ้มครองจะต้องพิจารณาถึงการเอาองค์ประกอบต่าง ๆ มารวมกัน แม้กฎหมายจะมีข้อจำกัด บางประการและยังไม่พบกรณีที่มีการนำคดีขึ้นสู่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทยจึงเป็นประเด็นที่ต้องจับตามองต่อไป

ข้อมูล : รศ.ดร.อรรยา สิงห์สงบ ผู้พิพากษาสบทบศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

แอดไลน์