ความผิดฐานสนับสนุนให้มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

การจำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญานั้นมีหลายช่องทาง เช่น การจำหน่ายผ่านหน้าร้าน การจำหน่ายตามตลาดนัด การจำหน่ายหน้าบูทในห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะการจำหน่ายผ่านทางเว็บไซต์ซึ่งเป็นการกระทำที่ง่าย รวดเร็ว ประหยัด และนิยมมากที่สุด ทำให้การกระทำละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาขยายไปในวงกว้างอย่างรวดเร็วและมี ผู้ขาย ผู้บริโภค และธุรกิจอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมหาศาล
ดังนั้นการที่จะเอาผิดกับผู้จำหน่ายโดยตรงทุกรายจึงเป็นเรื่องยาก หากสามารถเอาผิดกับผู้ให้บริการเว็บไซต์ที่จำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจึงเป็นเรื่องที่ง่ายกว่า และสามารถระงับการกระทำความผิดได้ในวงกว้างอย่างได้ผลอีกด้วย แต่ปัญหาก็คือ ผู้ให้บริการเว็บไซต์ดังกล่าวไม่ได้เป็นผู้จำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาด้วยตัวเอง แต่สินค้านั้นวางจำหน่ายโดยผู้ใช้บริการของเว็บไซต์ในฐานะผู้ขาย ในกรณีเช่นนี้ จะเอาผิดกับผู้ให้บริการได้อย่างไร
ในต่างประเทศต่างตื่นตัวในเรื่องนี้มาก ที่ผ่านมามีคดีมากมายหลายคดีที่ศาลในต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และประเทศต่างๆในยุโรปได้มีคำตัดสินและวางกลักว่าการกระทำใดบ้าง ที่ผู้ให้บริการเว็บไซต์จะต้องรับผิดชอบต่อกรณีที่มีผู้ใช้บริการเว็บไซต์วางจำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในเว็บไซต์ของตน
ศาลสหรัฐอเมริกาได้วางหลักในการพิสูจน์ว่าจำเลยกระทำการเป็นผู้สนับสนุนให้มีการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่อย่างไร ดังต่อไปนี้
1. การกระทำละเมิดโดยตรง (Direct Infringement)
• งานที่ถูกละเมิดต้องเป็นงานอันมีทรัพย์สินทางปัญญาที่ยังอยู่ภายในอายุการคุ้มครองและโจทก์เป็นเจ้าของงานอันมีทรัพย์สินทางปัญญานั้น และ
• ต้องมีการกระทำที่ละเมิดสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในทรัพย์สินทางปัญญา (Exclusive Right)
2. กระทำการเป็นผู้สนับสนุนให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์ (Contributory Copyright Infringement)
•โจทก์จะต้องพิสูจน์ว่าจำเลยได้กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งในต่อไปนี้ 1) จูงใจชักนำให้ผู้อื่นกระทำละเมิดหรือ 2) ยังคงจัดส่งสินค้าอย่างต่อเนื่องให้ผู้หนึ่งผู้ใดแม้ว่าตนจะรู้ว่าหรือมีเหตุควรรู้ว่าผู้นั้นเกี่ยวข้องกับการละเมิด โจทก์จะต้องพิสูจน์ตามเงื่อนไขต่อไปนี้
• มีการให้การช่วยเหลือหรือสนับสนุนอย่างจริงจัง (Material Contribution) หรือชักนำหรือจูงใจ (Inducement) เพื่อทำให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์
การพิสูจน์ว่าจำเลยทำการช่วยเหลือหรือสนับสนุนอย่างจริงจังให้มีการกระทำการละมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์นั้น โจทก์จะต้องพิสูจน์ว่าจำเลยเข้ากระทำการโดยตัวของจำเลยเอง (In Personal Conduct) เพื่อให้สนับสนุนหรือช่วยเหลือให้มีการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ซึ่งในกรณีการจัดหาให้ซึ่ง “Site and Facilities” อันได้แก่ ให้บริการ Hardware IP Address Sever และเว็บไซต์สำหรับการกระทำละเมิดก็ถือว่าเป็นการให้การช่วยเหลือหรือสนับสนุนอย่างจริงจังแล้ว หรือในกรณีของการให้บริการในระบบคอมพิวเตอร์ หากว่าผู้ดำเนินการในระบบคอมพิวเตอร์ (A Computer System Operator) เห็นว่าสินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์อยู่ในระบบ และไม่ได้ดำเนินการใดๆ เพื่อเอาสิ่งที่ละเมิดนั้นออกจากระบบ ถือได้ว่าผู้ดำเนินการนั้นรู้และสนับสนุนให้มีการกระทำละเมิด

ในกรณีของประเทศไทยก็ประสบเหตุการณ์เดียวกับต่างประเทศ ที่มีศูนย์การค้าและเว็บไซต์ต่างๆ เป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ในหลายปีที่ผ่านมาเจ้าของลิขสิทธิ์ก็ได้เพียงพยายามฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้จำหน่ายมากมาย แต่ร้านค้าและสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาก็มิได้ลดน้อยถอยลงในอัตราที่น่าพอใจ หากทุกสิ่งทุกอย่างยังคงดำเนินต่อไปอย่างเช่นทุกวันนี้ สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาก็คงยากที่จะหมดไปจากประเทศไทยได้ คดีนี้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นคดีที่เรียกว่าเป็นการกระทำละเมิดโดยตรง (Direct Infringement) ไม่มีปัญหาข้อกฎหมายให้ขบคิดวินิจฉัย แต่กระบวนการยุติธรรมของเราก็ยังไม่สามารถจัดการแก้ไขปัญหาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่วางจำหน่ายอย่างโจ่งแจ้งได้เราอาจจะต้องถึงเวลาแล้วที่จะต้องมองนอกกรอบหรือทำนอกแนวปฏิบัติแบบเดิมๆ
เมื่อพิจารณาคดีของต่างประเทศที่เจ้าของลิขสิทธิ์เริ่มดำเนินคดีกับเจ้าของพื้นที่แทนที่จะดำเนินกับผู้จำหน่าย เราคงหันมามองว่ามีบทบัญญัติของกฎหมายไทยในเรื่องใดที่จะนำมาสนับสนุนแนวความคิดนี้กฎหมายที่นำมาบังคับใช้กรณีนี้คือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 ซึ่งบัญญัติความผิดของผู้ที่ให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำความผิด ก็ต้องรับโทษสองในสามส่วนของการกระทำความผิดของผู้นั้น
ในกรณีจะพิสูจน์ว่าเจ้าของพื้นที่กระทำการในฐานะผู้สนับสนุนหรือไม่นั้น โจทก์จะต้องพิสูจน์ว่าเจ้าของพื้นที่ได้มีการกระทำการโดยเจตนาเพื่อสนับสนุนให้ผู้จำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสามารถจำหน่ายเหล่านั้นได้ การพิสูจน์ดังกล่าว ตามหลักของกฎหมายอาญาแล้ว โจทก์ต้องกระทำการพิสูจน์จนสิ้นสงสัย เพื่อให้ศาลเชื่อว่าจำเลยเจตนาที่จะกระทำผิดจริง ซึ่งจะเห็นได้ว่าความพยายามอย่างสูง ดังนั้น การที่กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการยกร่างกฎหมายในส่วนของการกำหนดความผิดของเจ้าของพื้นที่ที่มีการจำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หากเจ้าของพื้นที่ได้มีการกระทำอย่างผู้สนับสนุน รวมถึงการกำหนดในการพิสูจน์ความผิดในเรื่องนี้ขึ้นโดยเฉพาะ โดยไม่ต้องอาศัยหลักเรื่องผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญา บทบัญญัติดังกล่าวก็จะช่วยกระตุ้นให้เจ้าของพื้นที่ทั้งในส่วนของศูนย์การค้าและเว็บไซต์ต้องตื่นตัวในการช่วยปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของเจ้าของลิขสิทธิ์บ้าง

ข้อมูล : วารสารกฎหมายศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ

แอดไลน์