ก.รูปแบบของสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า
1. สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าโดยไม่เด็ดขาด (non-exclusive licensing agreement) หมายถึง สัญญาที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าของตน แต่เจ้าของเครื่องหมายการค้ายังมีสิทธิอนุญาตให้บุคคลอื่น ๆ นอกเหนือจากผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิคนก่อนใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นได้อีก รวมทั้งเจ้าของเครื่องหมายการค้าก็ยังคงมีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้านั้นเอง
2. สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิแต่ผู้เดียว (sole licensing agreement) หมายถึง สัญญาที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าอนุญาตให้ผู้หนึ่งผู้ใดใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าของตนแต่ผู้เดียวโดยตัดสิทธิเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จะอนุญาตให้บุคคลอื่น ๆ ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้านั้น แต่เจ้าของเครื่องหมายการค้ายังคงมีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้านั้นเอง
3. สัญญาอนุญาตอนุญาตให้ใช้สิทธิโดยเด็ดขาด (exclusive licensing agreement) หมายถึง สัญญาที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าอนุญาตให้ผู้หนึ่งผู้ใดใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าของตนแต่ผู้เดียวเท่านั้น โดยที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าเองก็ไม่มีสิทธิใช้และไม่มีสิทธิอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้เครื่องหมายการค้านั้น
โดยเหตุที่กฎหมายเครื่องหมายการค้าได้บัญญัติว่า สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าต้องทาเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อนายทะเบียน ดังนั้นจึงถือว่าเป็นรูปแบบของสัญญาอย่างหนึ่ง ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 152 บัญญัติว่า การใดมิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้การนั้นเป็นโมฆะ ดังนั้นถ้าไม่ได้จดทะเบียนสัญญาอนุญาต ฯ ต่อนายทะเบียน สัญญา ฯ นั้นย่อมตกเป็นโมฆะตามกฎหมาย
ในการยื่นขอจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้น จะต้องนำตัวสัญญาอนุญาตดังกล่าวมาจดทะเบียนต่อนายทะเบียน โดยมีเอกสารประกอบเช่น สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือต้นฉบับหนังสือรับรองนิติบุคคล พร้อมทั้งชำระเงินค่าธรรมเนียมการ จึงจะรับจดทะเบียนสัญญาอนุญาต ฯ ต่อไป
ข.รูปแบบของสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตร
สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิตามตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์และอนุสิทธิบัตร คือ สัญญาที่ผู้ให้สิทธิ ได้ให้สิทธิเฉพาะอย่างแก่ผู้ขอใช้สิทธิ โดยอนุญาตให้ใช้สิทธิไม่เกินอายุความคุ้มครอง
-สิทธิบัตรการประดิษฐ์อายุการคุ้มครอง 20 ปี
-อนุสิทธิบัตรอายุการคุ้มครอง รวม 10 ปี
ก.การจดทะเบียนอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร ต้องนำมาจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่จึงจะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย สามารถใช้บังคับกับบุคคลภายนอกได้
ข.หากไม่ได้จดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่จะมีผลบังคับเฉพาะคู่สัญญาสัญญา ระหว่างผู้ให้สิทธิ และ ผู้ขอใช้สิทธิ เท่านั้น (บุคคลสิทธิ) ไม่สามารถใช้บังคับกับบุคคลภายนอกได้
ผู้อนุญาตให้ใช้สิทธิ สามารถยื่นแบบคำขอ ณ งานบริการและตรวจรับคำขอจดทะเบียน ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดที่ผู้อนุญาตให้ใช้สิทธิมีภูมิลำเนา พร้อมแนบเอกสารหลักฐานประกอบคำขอการจดทะเบียนและตัวอย่างสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์และอนุสิทธิบัตรให้ถูกต้องครบถ้วน
เอกสารหลักฐานประกอบคำขอ เช่น
1.แบบฟอร์มของกรมทรัพย์สินทางปัญญา และ เอกสารประจำตัวของผู้ให้สิทธิ และ ผู้ขอใช้สิทธิ
2.หนังสือสำคัญ สิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร ฉบับจริง
3.สัญญาโอน ซึ่งควรจะมีข้อความสำคัญดังนี้
สัญญานี้ทำขึ้นที่… วันที่ ..ระหว่าง
ข้อ 1 นิยาม
สิ่งประดิษฐ์ หมายถึง …
สินค้าภายใต้สิ่งประดิษฐ์ หมายถึง … (สิ่งประดิษฐ์อาจเอาไปทำสินค้าได้หลายอย่าง ต้องระบุให้ชัดเจน)
อาณาเขต..ให้ทำได้ที่ไหนบ้าง
ข้อ 2 รับรองและการรับประกัน
เจ้าของสิทธิรับรองว่าเป็นเจ้าของในสิ่งประดิษฐ์แต่เพียงผู้เดียวโดยเป็นผู้คิดค้นและยื่นจดทะเบียนในนามตนเอง หากสินค้า และ สินค้าเฉพาะไปละเมิดสิทธิของบุคคลที่สามและเกิดความเสียหายขึ้นเจ้าของสิทธิจะเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว
ข้อ 3 อนุญาตให้ใช้สิทธิ (Licensing)
3.1 เจ้าของสิทธิอนุญาตให้ผู้ใช้สิทธิ มีสิทธิในการผลิต การจำหน่าย การโฆษณา การปกป้องและคุ้มครองการละเมิดจากบุคคลที่สาม ในอาณาเขตประเทศไทยสำหรับสินค้าที่ผลิตภายใต้สิ่งประดิษฐ์ ทั้งฉบับรวมถึงข้อถือสิทธิทุกข้อแต่เพียงผู้เดียว
3.2 ผู้ใช้สิทธิจะไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นเหตุให้เจ้าของสิทธิเสื่อมประโยชน์ในสิ่งประดิษฐ์ในลักษณะที่เป็นการกระทำที่ไม่อาจคาดหมายได้หรือการใช้สิทธิที่ไม่ปกติ
3.3 เจ้าของสิทธิสามารถอนุญาตให้บุคคลอื่นมีสิทธิในการผลิต การจำหน่าย การโฆษณา การปกป้องและคุ้มครองการละเมิดจากบุคคลที่สาม ในอาณาเขตประเทศไทยสำหรับสิ่งประดิษฐ์รวมถึงข้อถือสิทธิทุกข้อได้
ข้อ 4 ค่าใช้สิทธิ (Royalty Fees)
ผู้ใช้สิทธิจะชำระค่าใช้สิทธิ (Royalty Fees) ครั้งแรกจำนวน…บาทหลังจากเริ่มลงนามสัญญาฉบับนี้
ผู้ใช้สิทธิจะชำระค่าใช้สิทธิ (Royalty Fees) ในอัตรา .. % (.. %) ของยอดจำหน่ายหน้าโรงงานผลิต (Net Factory Sale) ก่อนหักค่าใช้จ่ายให้แก่เจ้าของสิทธิหลังจากผลิตสินค้าและลงนามสัญญาฉบับนี้
ผู้ใช้สิทธิจะสรุปยอดจำหน่ายหน้าโรงงานผลิต (Net Factory Sale) เป็นรายเดือนและแจ้งให้กับเจ้าของสิทธิทราบทุกเดือนโดยมีเงื่อนไขชำระเป็นรายเดือนภายในเดือนถัดไปทุก ๆ หนึ่ง (1) เดือน เช่น ยอดจำหน่ายของเดือนมกราคมจะต้องชำระค่าใช้สิทธิ (Royalty Fees) ภายในเดือนกุมภาพันธ์ เป็นต้น
ข้อ 5 การโฆษณา
ผู้ใช้สิทธิจะดำเนินการทำโฆษณาเพื่อจัดจำหน่ายสินค้าตามสิ่งประดิษฐ์ด้วยค่าใช้จ่ายของตนเองเพื่อให้มียอดจำหน่ายที่เหมาะสมและตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยจะใช้ความพยายามอย่างดีที่สุดในการทำให้มียอดจำหน่ายที่พึงพอ โดยการบริหารจัดการด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้ใช้สิทธิ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ได้ยอดจัดจำหน่ายตามข้อ 15 (สิบห้า)
ข้อ 6 ราคาจำหน่าย
ราคาจำหน่ายสินค้าตามสิ่งประดิษฐ์จะต้องเป็นราคาที่เหมาะสมและสามารถแข่งขันกับสินค้าประเภทเดียวกันในตลาดได้ โดยเจ้าของสิทธิและผู้ใช้สิทธิจะปรึกษาหารือร่วมกันเพื่อกำหนดราคาจำหน่ายสินค้า
ข้อ 7 ชื่อทางการค้า และ ชื่อเครื่องหมายการค้า
ผู้ใช้สิทธิจะใช้ชื่อทางการค้า และ ชื่อเครื่องหมายการค้าให้ปรากฏที่สินค้าและบรรจุภัณฑ์ ดังนี้
7.1…ระบุชื่อเครื่องหมายการค้า
7.2 ชื่อทางการค้า และ ชื่อเครื่องหมายการค้าตามที่ตกลงกันและได้ทำบันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญาฉบับนี้
ข้อ 8 ความช่วยเหลือด้านเทคนิคและการพัฒนานวัตกรรม
เจ้าของสิทธิจะให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิค ถ่ายทอดเทคโนโลยี แบ่งปันความรู้ในการผลิตสินค้าเพื่อให้สินค้าเป็นไปตามมาตรฐานและมีคุณภาพที่แข่งขันกับสินค้าประเภทเดียวกันในตลาดได้ โดยเจ้าของสิทธิจะเป็นผู้รับรองคุณภาพวัตถุดิบ และ สินค้า และ สินค้าเฉพาะ และได้ทำการทดสอบคุณภาพเพื่อกำหนดมาตรฐานวัตถุดิบ และ สินค้า และ สินค้าเฉพาะ สำหรับกระบวนการผลิต และหากมีความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเกี่ยวกับคุณภาพวัตถุดิบ และ สินค้า และ สินค้าเฉพาะ จากการกำหนดมาตรฐานในครั้งแรก เจ้าของสิทธิจะรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยข้อบกพร่องของสินค้าและสินค้าเฉพาะจะไม่รวมถึงข้อบกพร่องในการตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบ หรือ สินค้าสำเร็จ สินค้าเฉพาะสำเร็จ ที่ไม่ใช่มาตรฐานที่เจ้าของสิทธิกำหนด
โดยแบ่งเป็นสองระยะดังนี้
ระยะที่หนึ่ง ช่วง 1-3 เดือนแรก เมื่อเริ่มต้นการผลิตสินค้าโดยเจ้าของสิทธิจะปฏิบัติงานสัปดาห์ละ 2 วัน ณ. สถานที่ของผู้ใช้สิทธิ โดยจะไม่ได้รับค่าตอบแทน สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการผลิตที่ได้ออกทดลองจ่ายไปสามารถเบิกได้ตามใบเสร็จจริง
ระยะที่สอง ช่วงเดือนที่ 4 ขึ้นไป เจ้าของสิทธิจะให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิค ร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และ ถ่ายทอดเทคโนโลยี แบ่งปันความรู้เรื่องการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ที่เกี่ยวข้องกับสินค้า โดยเจ้าของสิทธิจะไม่ได้รับค่าตอบแทนรายเดือน
ข้อ 9 ข้อกำหนดและคุณลักษณะ (specification) ของสินค้า
ข้อกำหนดและคุณลักษณะ(specification) ของสินค้าจะถูกกำหนดโดยเจ้าของสิทธิเพื่อให้ได้มาตรฐานและมีคุณภาพตามที่กำหนด
ข้อ 10 การสั่งซื้อวัตถุดิบในการผลิตสินค้า
ผู้ใช้สิทธิจะต้องสั่งซื้อวัตถุดิบในการผลิตสินค้าตามข้อกำหนดและคุณลักษณะ(specification) และ แหล่งกำเนิด แหล่งผลิตที่เจ้าของสิทธิกำหนดเท่านั้น โดยจะไม่มีการปรับเพิ่มราคาวัตถุดิบในการผลิตสินค้า ซึ่งจะมีการพิจารณาร่วมกันเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานที่จัดซื้อวัตถุดิบเมื่อมีสถานที่อื่นที่มีราคาประหยัดและมีคุณภาพเท่าเทียมหรือดีกว่ามาตรฐานที่เจ้าของสิทธิกำหนดไว้ในครั้งแรก หรือ พิจารณาร่วมกันเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานที่จัดซื้อวัตถุดิบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของสินค้า และ สินค้าเฉพาะแม้ราคาวัตถุดิบจะมีราคาที่สูงกว่า
ข้อ 11 ข้อจำกัด
ผู้ใช้สิทธิจะดำเนินกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายใต้สิทธิที่ได้รับด้วยตนเอง จะไม่โอนสิทธิทั้งหมดหรือบางส่วนให้แก่บุคคลอื่นเว้นแต่ได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของสิทธิ
ข้อ 12 การเก็บรักษาความลับ
ผู้ใช้สิทธิและเจ้าของสิทธิจะเก็บรักษาข้อมูลการดำเนินกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายใต้บังคับของบทบัญญัติของสัญญาฉบับนี้ให้เป็นความลับ และ ไม่เปิดเผยข้อมูลแก่บุคคลภายนอก
ข้อ 13 ผลประโยชน์ร่วมกัน
ผู้ใช้สิทธิจะดำเนินกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายใต้บังคับของบทบัญญัติของสัญญาฉบับนี้เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันระหว่าง ผู้ใช้สิทธิ และ เจ้าของสิทธิ หากมีข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้น ผู้ใช้สิทธิ และ เจ้าของสิทธิ จะดำเนินการปรึกษาหารือร่วมกันทันทีและจะต้องแก้ปัญหาร่วมกันให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
ข้อ 14 อายุของสัญญา
สัญญาฉบับนี้มีอายุ .. ปี (..ปี) นับจากวันที่ .. ถึงวันที่ … การต่ออายุสัญญาจะได้รับการพิจารณาร่วมกันโดยให้สิทธิแก่ผู้ใช้สิทธิเป็นลำดับที่สำคัญที่สุด หากมีการยกเลิกสัญญาจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 6 เดือน ก่อนวันสิ้นสุดสัญญา มิฉะนั้นจะถือว่าเป็นการต่ออายุสัญญาออกไปโดยอัตโนมัติ อีก ..ปี (…ปี)
ข้อ 15 ยอดจำหน่ายสินค้า
ผู้ใช้สิทธิ จะต้องใช้ความพยายามอย่างดีที่สุดในการจัดจำหน่ายสินค้าเพื่อให้ได้ยอดจำหน่ายจำนวน …ล้านบาท (…ล้านบาท) ในระยะเวลา … ปีแรก นับจากวันที่ลงนามในสัญญาฉบับนี้ มิฉะนั้น เจ้าของสิทธิสามารถอนุญาตให้บุคคลอื่นมีสิทธิในการผลิต การจำหน่าย การโฆษณา การปกป้องและคุ้มครองการละเมิดจากบุคคลที่สาม ในอาณาเขตประเทศไทยสำหรับสิ่งประดิษฐ์ได้
ข้อ 16 เลิกสัญญา
16.1 สัญญาฉบับนี้หมดอายุลง ตาม ข้อ 14
16.2 ผู้ใช้สิทธิไม่ดำเนินการผลิตสินค้าเพื่อจัดจำหน่ายภายใต้สัญญาฉบับนี้ภายใน .. เดือนนับจากวันที่ลงนามในสัญญาฉบับนี้ และ ได้ปรึกษาหารือร่วมกันแล้วเห็นร่วมกันว่าผู้ใช้สิทธิไม่อาจดำเนินการตามสัญญาฉบับนี้ต่อไปได้
16.3 ผู้ใช้สิทธิ และ เจ้าของสิทธิตกลงร่วมกันในการเลิกสัญญาฉบับนี้
16.4 ผู้ใช้สิทธิมีสิทธิยกเลิกเลิกสัญญาหากการผลิตไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด
ข้อ 17 สิทธิในการฟ้องร้อง
ผู้ใช้สิทธิ และ เจ้าของสิทธิ มีหน้าที่ร่วมกันในการดำเนินการตามกฎหมายทั้งทางแพ่งและทางอาญากับบุคคลที่สามที่กระทำการละเมิดสิ่งประดิษฐ์ทันทีที่มีการละเมิด โดยจะปรึกษาหารือร่วมกันถึงแนวทางการดำเนินการโดยเร็ว
สัญญานี้ทำเป็นสองฉบับ มีข้อความถูกต้องตรงกันทุกประการ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้อ่านและเข้าใจสัญญาดีแล้ว จึงได้ลงลายมือชื่อและประทับตราไว้ต่อหน้าพยานเป็นสำคัญ
ลงชื่อ ___________________________เจ้าของสิทธิ
ลงชื่อ ___________________________ผู้ใช้สิทธิ
ลงชื่อ ___________________________พยาน
ลงชื่อ ___________________________พยาน