เครื่องหมายการค้า หมายถึง เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์หรือตราที่ใช้กับสินค้าหรือบริการ ซึ่งเครื่องหมายที่ให้ความคุ้มครองตาม พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2543 มี 4 ประเภท ดังต่อไปนี้

1. เครื่องหมายการค้า (Trade Mark) คือเครื่องหมายที่ใช้เป็นที่หมายเกี่ยวข้องกับสินค้าเพื่อแสดงว่าสินค้าที่ ใช้เครื่องหมายนั้นแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น เช่น บรีส  มาม่า กระทิงแดง เป็นต้น
2. เครื่องหมายบริการ (Service Mark) คือ เครื่องหมายที่ใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับบริการ เพื่อแสดงว่าบริการที่ใช้เครื่องหมายนั้นแตกต่างกับบริการที่ใช้เครื่องหมาย บริการของบุคคลอื่น เช่น เครื่องหมายของสายการบิน ธนาคาร โรงแรม เป็นต้น

3. เครื่องหมายรับรอง (Certification Mark) คือ เครื่องหมายที่เจ้าของเครื่องหมายรับรองใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับ สินค้าและบริการของบุคคลอื่น เพื่อเป็นการรับรองคุณภาพของสินค้า หรือบริการนั้น เช่น เชลล์ชวนชิม แม่ช้อยนางรำ ฮาลาล (Halal) เป็นต้น

4. เครื่องหมายร่วม (Collective Mark) คือ เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการที่ใช้โดยบริษัทหรือวิสาหกิจในกลุ่ม เดียวกัน หรือโดยสมาชิกของสมาคม กลุ่มบุคคล หรือองค์กรอื่นใดของรัฐหรือเอกชน เช่น ตราช้างของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด  เป็นต้น

การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ ตามพิธีสารกรุงมาดริด (Madrid Protocol)

ปัจจุบันผู้ประกอบการค้า  ได้ใช้เครื่องหมายการค้าเป็นเครื่องมือนำทางการค้า  ทั้งภายในประเทศและการส่งออกสินค้าไปจำหน่ายยังต่างประเทศ  เจ้าของเครื่องหมายการค้าจึงมีความจำเป็นต้องจดทะเบียนขอรับความคุ้มครองสิทธิในประเทศต่าง ๆ ก่อนส่งสินค้าไปจำหน่าย   เพื่อป้องกันปัญหาการละเมิดเครื่องหมายการค้า  และมิให้ผู้ใดนำเครื่องหมายการค้าของตนไปจดทะเบียนในต่างประเทศโดยมิได้เป็นเจ้าของ  กรมทรัพย์สินทางปัญญา  ได้มีนโยบายในการส่งเสริมการให้บริการขอรับความคุ้มครองเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศด้วยความสะดวก  รวดเร็ว  และประหยัดค่าใช้จ่าย  ด้วยการศึกษาแนวทางการเข้าเป็นภาคีพิธีสารกรุงมาดริด (Madrid Protocol)

หากประเทศไทย เข้าเป็นภาคีพิธีสารกรุงมาดริด ผู้ประกอบการหรือผู้ส่งออกของไทยก็จะได้รับประโยชน์ที่จะสามารถยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เพื่อขอรับความคุ้มครองในประเทศต่าง ๆ ได้ หลายประเทศในคราวเดียวกัน  โดยยื่นคำขอจดทะเบียนเพียงคำขอเดียว ใช้เพียงภาษาเดียว(อังกฤษ  ฝรั่งเศส หรือสเปน)  และเสียค่าธรรมเนียมเพียงครั้งเดียว  ซึ่งก็จะทำให้ได้รับความสะดวก รวดเร็วในการยื่นคำขอจดทะเบียน และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางอีกด้วย

ขั้นตอนการจดทะเบียน

การยื่นคำขอ
ให้ยื่นต่อสำนักงานระหว่างประเทศ (International Bureau)  ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (WIPO)  โดยยื่นผ่านสำนักงานทะเบียนต้นกำเนิดของประเทศผู้ขอ  ซึ่งจะดำเนินการตรวจสอบและรับรองว่าเครื่องหมายที่ยื่น  สินค้าและ/หรือบริการที่ระบุ  เหมือนกับคำขอรากฐาน (Basic Application)  หรือทะเบียนรากฐาน (Basic Registration)
คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่จะนำไปยื่นขอจดทะเบียนระหว่างประเทศตามพิธีสารกรุงมาดริดได้นั้น  ต้องเป็นคำขอที่มีการยื่นขอจดทะเบียน หรือได้รับการจดทะเบียนไว้แล้วในประเทศต้นกำเนิด

การจดทะเบียน  การจดทะเบียนแบ่งออกเป็น  2 ขั้นตอน คือ
1.  ขั้นตอนระหว่างประเทศ
เมื่อสำนักงานระหว่างประเทศได้รับคำขอจดทะเบียน จะดำเนินการตรวจสอบเบื้องต้น (Formal Examination)  ในเรื่องความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของพิธีสารกรุงมาดริดและกฎข้อบังคับพิธีสารกรุงมาดริด (Common Regulations)  การระบุจำพวกและรายการสินค้าและ/หรือบริการ ว่าเป็นไปตาม Nice Classification  หรือไม่  รวมทั้งการชำระค่าธรรมเนียม หากมีข้อบกพร่อง  สำนักงานระหว่างประเทศจะแจ้งไปยังประเทศที่มีการยื่นคำขอและผู้ยื่นคำขอ  ทั้งนี้ ผู้ยื่นคำขอจะต้องแก้ไขภายใน 3 เดือน มิฉะนั้นจะถือว่าละทิ้งคำขอ
2.  ขั้นตอนในประเทศ
เมื่อประเทศภาคีที่ผู้ยื่นคำขอประสงค์จะได้รับความคุ้มครองได้รับคำขอแล้ว จะดำเนินการตรวจสอบคำขอดังกล่าวตามขั้นตอนปกติที่ใช้สำหรับการตรวจสอบคำขอที่ยื่นในประเทศ  โดยจะตรวจสอบเนื้อหาสาระ (Substantive Examination)  โดยตรวจสอบตามกฎหมายภายในของตน เช่น ตรวจสอบความเหมือนคล้าย ลักษณะบ่งเฉพาะหรือลักษณะต้องห้าม เป็นต้น หากมีข้อบกพร่องต้องดำเนินการแก้ไขตามกฎหมายภายในของประเทศนั้น ๆ
หากมีเหตุที่ต้องปฏิเสธการรับจดทะเบียน  จะต้องแจ้งให้สำนักงานระหว่างประเทศทราบภายในกำหนด 12 เดือน หรือ 18 เดือน หรือหลังจากนั้น (กรณีมีคำร้องคัดค้าน)มิฉะนั้นจะถือว่าเครื่องหมายดังกล่าวได้รับการจดทะเบียนในประเทศที่ขอจดทะเบียนนั้นแล้ว

วันจดทะเบียน มี 2 กรณี ดังนี้
1)  คือวันยื่นคำขอจดทะเบียนต่อสำนักงานทะเบียนต้นกำเนิด หากคำขอดังกล่าวถึงสำนักงานระหว่างประเทศภายใน 2 เดือน
2)  หากเกิน 2 เดือน ให้ถือวันที่สำนักงานระหว่างประเทศได้รับคำขอเป็นวันจดทะเบียน

อายุความคุ้มครอง
10 ปี นับตั้งแต่วันรับจดทะเบียน และต่ออายุได้อีกคราวละ 10 ปี การต่ออายุสามารถต่ออายุได้ก่อนวันสิ้นอายุ 6 เดือน หรือหลังสิ้นอายุแล้วภายใน 6 เดือนก็ได้  แต่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มร้อยละ 50 ของค่าธรรมเนียมเบื้องต้น (Basic fee)  ทั้งนี้ สามารถต่ออายุเฉพาะบางประเทศ หรือทุกประเทศที่ได้รับความคุ้มครองก็ได้

ค่าธรรมเนียมการยื่นคำขอจดทะเบียนระหว่างประเทศมี 4 ประเภท คือ
1)  Basic fee  เป็นค่าธรรมเนียมเบื้องต้นสำหรับการยื่นคำขอจดทะเบียนระหว่างประเทศหนึ่งคำขอ
–  เครื่องหมายขาว-ดำ 653  สวิสฟรังค์
–  เครื่องหมายที่เป็นสี 903  สวิสฟรังค์
2)  Supplementary fee  เป็นค่าธรรมเนียมสำหรับจำพวกสินค้าและ/หรือบริการ  ที่ยื่นขอจดทะเบียนเกิน 3 จำพวก โดยเสียค่าธรรมเนียมตั้งแต่จำพวกที่ 4 ขึ้นไป  จำพวกละ 73 สวิสฟรังค์
3)  Complementary fee  เป็นค่าธรรมเนียมสำหรับประเทศที่ระบุเพื่อขอจดทะเบียน ประเทศละ  73  สวิสฟรังค์
4)  Individual fee  เป็นค่าธรรมเนียมเฉพาะประเทศ

แอดไลน์