การกระทำ เพื่อการค้า กับการกระทำ เพื่อหากำไร มีความหมายแตกต่างกันได้ในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์

กฎหมายลิขสิทธิ์ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537

มาตรา ๓๑ ผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของ ผู้อื่น กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานนั้นเพื่อหากำไร ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดัง ต่อไปนี้
(๑) ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า ให้เช่าซื้อ หรือเสนอให้เช่าซื้อ
(๒) เผยแพร่ต่อสาธารณชน
(๓) แจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์
(๔) นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6380/2553

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยนำเพลงที่บันทึกในเครื่องคอมพิวเตอร์โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกแพร่เสียงซ้ำ และจัดให้ประชาชนฟัง โดยเรียกเก็บเงินหรือผลประโยชน์อื่นทางการค้าจากบุคคลทั่วไปซึ่งการกระทำที่จะเป็นความผิดดังกล่าว ต้องเป็นการกระทำแก่งานลิขสิทธิ์ประเภทงานแพร่เสียงแพร่ภาพ ซึ่งหมายความถึงงานที่นำออกสู่สาธารณชนโดยการแพร่เสียงทางวิทยุกระจายเสียง การแพร่เสียงและหรือภาพทางวิทยุโทรทัศน์ หรือโดยวิธีอย่างอื่นอันคล้ายคลึงกันตามบทนิยามในพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 แต่ตามคำฟ้องโจทก์กล่าวเพียงว่า ผู้เสียหายเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานดนตรีกรรมกับสิ่งบันทึกเสียงเท่านั้น โดยไม่ได้กล่าวว่าเพลงที่บันทึกในเครื่องคอมพิวเตอร์โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายเป็นงานแพร่เสียงแพร่ภาพ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 29

ความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ต้องเป็นการกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น เพื่อหากำไร เท่านั้น แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยนำเพลงละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยนำเพลงที่บันทึกในเครื่องคอมพิวเตอร์โดยละเมิดลิขสิทธิ์ออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน ขาย เสนอขาย มีไว้เพื่อขาย อันเป็นการกระทำเพื่อการค้า แต่การกระทำ เพื่อการค้า กับการกระทำ เพื่อหากำไร มีความหมายแตกต่างกันได้ คำฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาจะหากำไรโดยตรงจากการนำเพลงดังกล่าวออกแพร่เสียง จึงเป็นคำฟ้องที่บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ไม่ครบถ้วนไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

หากมีคำถามเกี่ยวกับการจดลิขสิทธิ์ติดต่อสอบถามเราได้เลย

แอดไลน์