นำเพลง หรือ เสียงคำพูดของคนอื่นมาใช้ใน TikTok ละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่

นำเพลง หรือ เสียงคำพูดของคนอื่นมาใช้ใน TikTok ละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่

ความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ต้องเป็นการเผยแพร่งานนั้นต่อสาธารณชน “เพื่อหากำไร” ซึ่งหมายความว่า กำไรนั้นจะต้องได้มาหรือจะได้มาจะต้องเกิดจากเพลง หรือ เสียงคำพูดที่นำมาประกอบใน TikTok เท่านั้น แยกได้ดังนี้

ก.หากประกอบกิจการค้าขายสินค้าบริการของตนเอง เช่น ขายเครื่องสำอาง เสื้อผ้า และ เปิดเพลงให้ลูกค้าฟังประกอบ ถือว่าไม่เป็นการเปิดเพลงดังกล่าวเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าได้ฟังเพลง เพราะการขายเครื่องสำอาง เสื้อผ้า ไม่ได้มีการเรียกเก็บค่าตอบแทนจากลูกค้าเพิ่มในการเปิดเพลงดังกล่าวหรือเรียกเก็บเพิ่มรวมไปกับสินค้าแต่อย่างใด ถือว่าไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์

ประเด็นสำคัญคือการใช้งานลิขสิทธิ์ต้องมีขอบเขตข้อจำกัดสิทธิด้วย หากนำเพลงมาประกอบในโฆษณาขายสินค้าลักษณะนี้ถือว่าความสำคัญของเพลงก็มีความสำคัญในลักษณะที่ดึงความสนใจของผู้ฟังให้มาสนใจในสินค้าที่โฆษณานั้นถือว่าเป็นการหาประโยชน์จากเพลงดังกล่าวและทำเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าได้ฟังเพลงนั้นด้วย หากการกระทำขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ และ กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์

ข.การทำ reaction คือการนำเสียงคำพูดของคนอื่นมาประกอบใน TikTok ถือว่าไม่เป็นการนำเสียงคำพูดของคนอื่นมาเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าได้ฟังเสียงคำพูดของคนอื่น หากการขายสินค้านั้นไม่ได้มีการเรียกเก็บค่าตอบแทนจากลูกค้าเพิ่มในการนำเสียงคำพูดของคนอื่นมาใช้ หรือเรียกเก็บเพิ่มรวมไปกับสินค้าแต่อย่างใด ถือว่าไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์

ประเด็นสำคัญคือการใช้งานลิขสิทธิ์ต้องมีขอบเขตข้อจำกัดสิทธิด้วย หากนำเสียงคำพูดมาประกอบในโฆษณาขายสินค้าลักษณะนี้ถือว่าความสำคัญของเสียงคำพูดก็มีความสำคัญในลักษณะที่ดึงความสนใจของผู้ฟังให้มาสนใจในสินค้าที่โฆษณานั้นถือว่าเป็นการหาประโยชน์จากเสียงคำพูดดังกล่าวและทำเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าได้ฟังเสียงคำพูดนั้นด้วย หาก การกระทำขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ และ กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์

อีกประเด็นหนึ่งคือเสียงคำพูดที่นำมาใช้แม้จะทำเพื่อความบันเทิงและไม่ได้หากำไรและไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ แต่การ reaction เสียงคำพูดนั้นทำให้สื่อได้ถึงว่าเจ้าของเสียงเป็นใคร และ การกระทำนั้นทำให้เจ้าของเสียงได้รับความเสียหายและนำไปสู่ความเข้าใจผิดก็อาจจะเข้าข่ายความผิดฐานละเมิดทางแพ่ง และ หมิ่นประมาททางอาญาด้วย

เสียงคำพูดนั้นมีความสำคัญมากในปัจจุบันและยังใหม่มากจากแพลตฟอร์มรูปแบบใหม่ของ TikTok ซึ่งมีการนำมาใช้ในการโฆษณาและหาประโยชน์จากเสียงคำพูดนั้น และ ยังไม่ค่อยมีกรณีของศาลที่จะพิพากษาและวางหลักกฎหมายในเรื่องการใช้เสียงคำพูดในแพลตฟอร์มของ TikTok ว่ามีหลักการอย่างไร

หลักกฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศไทย
มาตรา ๖ งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ ได้แก่ งานสร้างสรรค์ประเภท
1.วรรณกรรม
2.นาฏกรรม
3.ศิลปกรรม
4.ดนตรีกรรม
5.โสตทัศนวัสดุ
6.ภาพยนตร์
7.สิ่งบันทึกเสียง
8.งานแพร่เสียงแพร่ภาพ
9.งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะของผู้สร้างสรรค์ ไม่ว่างานดังกล่าวจะแสดงออกโดยวิธี
หรือรูปแบบอย่างใดการคุ้มครองลิขสิทธิ์ไม่คลุมถึงความคิด หรือขั้นตอน กรรมวิธี หรือระบบ หรือวิธีใช้หรือ
ทำงาน หรือแนวความคิด หลักการ การค้นพบ หรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์

คำถามคือ คำพูด นั้นเป็นลิขสิทธิ์หรือไม่ เช่น คำว่า ถูกต้องนะคร้าบบบบบ!! ซึ่งเป็นคำพูดของ คุณปัญญา นิรันดร์กุล ที่ใช้ในการทำรายการแฟนพันธุ์แท้

ซึ่งคำพูดนั้นไม่ใช่ งานสร้างสรรค์ ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ เพราะ คำว่า ถูกต้องนะคร้าบบบบบ!! มีมาก่อนแล้ว และ เป็นคำที่ทุกคนเข้าถึงได้มาก่อน เพียงแต่ คุณปัญญา นิรันดร์กุล นำมาใช้ให้แพร่พลายเท่านั้น การทำให้แพร่หลายและรู้จักไม่ถือว่าตนเองเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ดังนั้นบุคคลอื่นสามารถนำคำว่า ถูกต้องนะคร้าบบบบบ!! มาใช้ได้

ประเด็นพิจารณาต่อมา เสียงคำพูด ถูกต้องนะคร้าบบบบบ!! หรือ เสียงคำพูดอื่นในลักษณะเดียวกันนั้น ถือว่าเป็นงานมีลิขสิทธิ์หรือไม่ เช่น มีการโฆษณาขาย ซาลาเปา และ มีการบันทึกเสียง คำว่า ซาลาเปามาแล้ว ขนมจีบมาแล้ว ห้อม หอม อร่อย ซาลาเปา 7 บาท ขนมจีบ 2 บาท (วนซ้ำหลายครั้ง) เป็นต้น ซึ่งมีกรณีที่เกิดขึ้นจริงคือ มีรถขายซาลาเปา และ อัดเสียงตนเองไว้โฆษณามานานจนประชาชนได้ยินเสียงและจดจำได้ว่าเป็น รถขายซาลาเปาเจ้านี้ จนต่อมามี รถอีกคันหนึ่งเอาเสียงคำพูดนี้ไปใช้ เพื่อแสวงหาประโยชน์จากการขายสินค้า

ซึ่งคำอ่านว่า ซาลาเปามาแล้ว ขนมจีบมาแล้ว ห้อม หอม อร่อย ซาลาเปา 7 บาท ขนมจีบ 2 บาท (วนซ้ำหลายครั้ง) ไม่ใช่ งานสร้างสรรค์ ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ เพราะเป็นประโยคทั่วไป

สำหรับเสียงคำพูด ซาลาเปามาแล้ว ขนมจีบมาแล้ว ห้อม หอม อร่อย ซาลาเปา 7 บาท ขนมจีบ 2 บาท (วนซ้ำหลายครั้ง) ถือว่าไม่ใช่งานสร้างสรรค์ในเรื่องของสิ่งบันทึกเสียง และ ไม่สามารถจดแจ้งลิขสิทธิ์ได้ ตามคำสั่งของกรมทรัพย์สินทางปัญญา แต่กรณีนี้ยังไม่เคยมีคำสั่งศาลตัดสินว่าอย่างไร

ผู้เขียนมีความเห็นว่า เสียงคำพูด ซาลาเปามาแล้ว ขนมจีบมาแล้ว ห้อม หอม อร่อย ซาลาเปา 7 บาท ขนมจีบ 2 บาท (วนซ้ำหลายครั้ง) ที่ระบุตัวตนได้นั้นควรจะมีลิขสิทธ์และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ด้วย เช่นกัน มิฉะนั้นจะเกิดกรณีที่ รถอีกคันหนึ่งสามารถเอาเสียงคำพูดนี้ไปใช้ เพื่อแสวงหาประโยชน์จากการขายสินค้าได้

ดังนั้น การนำเสียงคำพูดที่ระบุตัวตนได้มาใช้และขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของเสียง และ กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของเสียงเกินสมควร ถือว่ามีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งในรูปแบบอื่น หรือ ในแพลตฟอร์ม TikTok

แอดไลน์