13
May2023

วิธีการเขียนคำขอ จดสิทธิบัตรด้วยตนเอง

สิทธิบัตร จัดเป็นทรัพย์สินทางปัญญาชนิดหนึ่งที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ (Invention) หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) เป็นสิทธิพิเศษ ที่ให้ผู้ประดิษฐ์คิดค้นหรือผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ จะมีสิทธิที่จะผลิตสินค้า จำหน่ายสินค้าแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งการจะได้มาซึ่งสิทธิแต่เพียงผู้เดียวนั้น เราต้องทำการจดสิทธิบัตร โดยต้องมีวิธีการเขียนเนื้อหา จัดทำรูปเขียน ให้สามารถจดทะเบียนได้ เข้าใจรายละเอียดการประดิษฐ์ได้ และ บังคับใช้ทางกฎหมายได้ นั่นหมายถึง สิทธิบัตรจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้ผลิตสินค้า จำหน่ายสินค้าแต่เพียงผู้เดียว

สิ่งประดิษฐ์ที่ดี หากเขียนสิทธิบัตรหรือร่างคำขอสิทธิบัตรไม่ดี ก็เท่ากับสิ่งประดิษฐ์นั้นในเชิงกฎหมายก็จะไม่ดีไปด้วย ดังนั้น ในบทความนี้ผมจะมาชวนทุกคนเรียนรู้เรื่องการเขียนและการ่างคำขอสิทธิบัตรด้วยตัวเอง

ก่อนอื่นรูปแบบการเขียนสิทธิบัตรต้องประกอบด้วย หัวข้อดังต่อไปนี้

1. ชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์
2. สาขาวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์
3. ภูมิหลังของศิลปะหรือวิทยาการที่เกี่ยวข้อง
4. ลักษณะและความมุ่งหมายของการประดิษฐ์
5. การเปิดเผยการประดิษฐ์โดยสมบูรณ์
6. คำอธิบายรูปเขียนโดยย่อ
7. วิธีการในการประดิษฐ์ที่ดีที่สุด
8. ข้อถือสิทธิ
9. รูปเขียน (ถ้ามี)
10. บทสรุปการประดิษฐ์

ร่างคำขอรับสิทธิบัตร คืออะไร
การเขียนหรือการร่างคำขอรับสิทธิบัตร (patent specification) เป็นส่วนสำคัญที่จะแสดงสาระสำคัญของการประดิษฐ์ที่ต้องการขอรับความคุ้มครอง รวมไปถึงขอบเขตที่ต้องการขอรับความคุ้มครอง

ดังนั้นหากเราต้องการขอความคุ้มครองที่มีประสิทธิภาพและใช้บังคับทางกฎหมายได้ จะต้องใช้เทคนิคการ เขียนหรือการร่างคำขอรับสิทธิบัตร ให้มีความชัดเจน สามารถเข้าใจถึงรายละเอียดการประดิษฐ์ได้ ซึ่งต้องขอความคุ้มครองในลักษณะแบบกว้างจากฐานปิระมิด ไปจนถึงยอดปิระมิด ที่เป็นส่วนงานประดิษฐ์ของเราจริงๆ

องค์ประกอบของร่างคำขอ
เนื่องจาก ร่างคำขอรับสิทธิบัตร มีลักษณะเฉพาะตัวเหมือนการทำรายงานที่มีข้อกำหนดมากมาย ทั้งการจัดหน้าเอกสาร เหตุผลเพราะเป็นเอกสารที่ต้องนำมาใช้บังคับทางกฎหมาย และ จะเป็นมาตรฐานที่เป็นหน้าตา และ รูปแบบเดียวกันทั่วโลก เนื่องจากการตรวจสอบความใหม่จะต้องตรวจสอบทั่วโลกด้วย แล้วทำยากไหม เราไปดูกันเลย

1. ชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์
ในการร่างคำขอสิทธิบัตรชื่อการประดิษฐ์เป็นส่วนสำคัญในการบอกลักษณะของสิ่งประดิษฐ์นั้น โดยต้องตั้งชื่อให้เน้นสิ่งที่โดดเด่นของงานประดิษฐ์ของเรา เช่น ขนมที่มีผสมกากถั่ว จะระบุขนมขบเคี้ยวกว้างๆ ไม่ได้ หรือ ตั้งชื่อที่อวดอ้างสรรพคุณ เช่น ขนมมหัศจรรย์, ครีมบำรุงผิวทิพย์ เป็นต้น และชื่อจะต้องตรงกันกับแบบพิมพ์คำขอรับสิทธิบัตร

ตัวอย่างชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์

สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ เช่น ขวดน้ำ, เก้าอี้ งานออกแบบต้องระบุแค่ชื่อชิ้นงานกว้างๆ เท่านั้น
สาขาเภสัชภัณฑ์ เช่น ยาทางแผลในปากแบบแผ่น
สาขาวิศวกรรม/ไฟฟ้า/ฟิสิกส์ เช่น รถไฟฟ้าแบบถอดชุดแบตเตอรี่ออกได้
สาขาเคมี/ปิโตรเคมี เช่น กาวที่ละลายได้และแข็งตัวได้
สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ เช่น ปุ๋ยผสมเปลือกหอย

ชื่อการประดิษฐ์ต้องใช้เหมือนกันตลอดทั้งร่างคำขอ เพื่อให้เข้าใจได้ว่ากำลังกล่าวถึงอะไร เช่นชื่อ ยาทางแผลในปากแบบแผ่น จะไปเขียนใหม่เป็น แผ่นยาทางแผลในปาก ไม่ได้เด็ดขาด

แล้วตั้งชื่อ แบบกว้าง หรือ กับ แบบแคบ อันไหนดีกว่ากัน? ชื่อแบบแคบดีกว่าเพราะตรงกับงานที่เราประดิษฐ์จริงๆ การบังคับใช้การฟ้องร้องจะชัดเจน เช่น สิ่งประดิษฐ์ 1 อย่างอาจจะมี สิทธิบัตรได้หลายใบ เช่น ขาเก้าอี้ ที่รองนั่ง พนักพิง หากเราจดสิทธิบัตรแยกเป็นจุดๆ และ ตั้งชื่องานตามจุดนั้น การบังคับใช้การฟ้องร้องจะมีประสิทธิภาพมาก

2. สาขาวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์
สาขาของงานประดิษฐ์ของเรา เช่น
สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์
สาขาเภสัชภัณฑ์
สาขาวิศวกรรม/ไฟฟ้า/ฟิสิกส์
สาขาเคมี/ปิโตรเคมี
สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ
สาขาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์

หรือ ระบุหลายสาขาได้ สาขาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และ สาขาวิศวกรรมเครื่องยนต์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ….(ระบุชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์) เช่น สาขาวิศวกรรมเครื่องยนต์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ สายคาดเข็มขัดนิรภัยที่ใช้ได้กับรถเข็นเด็กทารก

3. ภูมิหลังของศิลปะหรือวิทยาการที่เกี่ยวข้อง
ภูมิหลังของศิลปะหรือวิทยาการที่เกี่ยวข้อง คือ งานก่อนหน้าที่เรามาคิดงานตัวนี้ และ งานก่อนหน้านั้นมีปัญหา มีข้อเสียอย่างไร และ เราได้ทำให้ดีขึ้นและไปแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร อ้างงานในฐานข้อมูลสิทธิบัตรเดิมหรืองานในเอกสารทางวิชาการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศก็ได้

4. ลักษณะและความมุ่งหมายของการประดิษฐ์
ลักษณะและจุดมุ่งหมายของงานประดิษฐ์ในหัวข้อนี้เขียนคล้ายกับบทสรุปการประดิษฐ์ แต่มีส่วนความมุ่งหมายของการประดิษฐ์ โดยแสดงถึงลักษณะของการประดิษฐ์แบบกระชับ และอธิบายความมุ่งหมายของการประดิษฐ์ ว่าการประดิษฐ์นี้ทำขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์อะไร หากเป็นงานที่เกี่ยวกับการเกษตร แนะนำให้เขียนด้วยว่าใช้วัตถุดิบในประเทศ และ เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคม ด้วยเพราะเป็นข้อบังคับ

5. การเปิดเผยการประดิษฐ์โดยสมบูรณ์
หัวข้อนี้มีความสำคัญหัวข้อหนึ่งในร่างคำขอรับสิทธิบัตร เพราะว่าหัวข้อนี้หากไม่ได้เปิดเผยไว้จะไม่สามารถนำไประบุในข้อถือสิทธิได้ ซึ่งเวลาฟ้องร้องบังคับใช้ต้องนำข้อถือสิทธิมาพิจารณา โดยต้องบรรยายรายละเอียดของงานประดิษฐ์ให้เข้าใจ เพียงพอที่จะทำให้ผู้มีความชำนาญในระดับสามัญในศิลปะหรือวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์สามารถทำและปฎิบัติการได้

การบรรยายต้องอธิบายไปพร้อมการ รูปเขียน โดยเริ่มจากชิ้นแรกก่อนแล้วจึงบรรยายส่วนอื่น ๆ ต่อไปตามลำดับ เช่น ถ้วย (1) ฝา (2) รูปเขียนก็ไปชี้ (1) (2) ตามคำบรรยายนั้น

หากผลการทดลอง หรือผลทดสอบ ก็สามารถระบุเพิ่มมาได้ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบพิจารณา

เทคนิคการเขียนตรงนี้ ต้องเขียนฐานปิระมิดให้ได้ และ ไล่ลำดับไปจนถึงยอดปิระมิด ซึ่งยอดปิระมิดคืองานประดิษฐ์ของเรา จะทำให้ได้รับความคุ้มครองกว้างๆ

เราสามารถอธิบายงานประดิษฐ์แบบเดิมลงไปได้ด้วยเพื่ออธิบายงานก่อนหน้า เช่นถ้วยแบบเดิม (1) ฝาแบบเดิม (2) เป็นต้น

 

6. คำอธิบายรูปเขียนโดยย่อ
รูปเขียนอธิบายตามจำนวนภาพ เช่น รูปที่ 1 แสดงภาพส่วนประกอบของงาน…รูปที่ 2 แสดงภาพ….อะไร และ หลังจากประโยคต้องปิดท้ายว่า ตามการประดิษฐ์นี้

เช่น รูปที่ 1 แสดงให้เห็นส่วนประกอบของ โครงสร้างหน้ากากอนามัยสำหรับครอบจมูก ตามการประดิษฐ์นี้

เราสามารถระบุภาพงานประดิษฐ์แบบเดิมลงไปได้ด้วยเพื่ออธิบายงานก่อนหน้า เช่น รูปที่ 1 แสดงให้เห็นส่วนประกอบของ โครงสร้างหน้ากากอนามัยสำหรับครอบจมูกตามการประดิษฐ์แบบเดิมนี้

7. วิธีการในการประดิษฐ์ที่ดีที่สุด
ปกติจะเขียนว่า “เหมือนที่กล่าวไว้แล้วในหัวข้อการเปิดเผยการประดิษฐ์โดยสมบูรณ์” จบเลย

8. ข้อถือสิทธิ
ข้อถือสิทธิเป็นหัวข้อที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก และสำคัญที่สุดในร่างคำขอรับสิทธิบัตร เนื่องจากเกี่ยวพันกับการบังคับใช้ทางกฎหมายและการฟ้องร้อง

ข้อถือสิทธิมี 2 ประเภท ได้แก่ ข้อถือสิทธิหลัก และ ข้อถือสิทธิรอง

ข้อถือสิทธิหลัก ถ้าเข้าข้อนี้ฟ้องได้เลย
ข้อถือสิทธิรอง ถ้าเข้าข้อนี้แต่ไม่เข้า ข้อถือสิทธิหลัก ฟ้องไม่ได้

ดังนั้นการเขียน ข้อถือสิทธิหลัก สำคัญมากต้องเขียนกว้างๆ

ข้อถือสิทธิหลัก : เช่น แผ่นเมทัลชีทที่มีเม็ดเซรามิค
ข้อถือสิทธิรอง 1 : เช่น แผ่นเมทัลชีทที่มีเม็ดเซรามิคมีลักษณะเป็นแผ่นลอน
ข้อถือสิทธิรอง 2 : เช่น แผ่นเมทัลชีทที่มีเม็ดเซรามิค มีการจัดเรียงชั้น ชั้นที่หนึ่ง (10) จะเป็น สารเคลือบรองพื้นเพื่อการยึดเกาะอย่างน้อยที่สุดหนึ่งชั้น ชั้นที่สอง (20) จะเป็น วัสดุเม็ดเซรามิคอย่างน้อยที่สุดหนึ่งชั้น ชั้นที่สาม (30) จะเป็น สารเคลือบทับหน้า อย่างน้อยที่สุดหนึ่งชั้น

ตัวอย่าง การเขียน ข้อถือสิทธิ

1.แผ่นเมทัลชีทที่มีเม็ดเซรามิคอยู่ที่พื้นผิวสัมผัส มีลักษณะที่ประกอบด้วย
แผ่นเมทัลชีท (40) ที่มีรูปทรงเรขาคณิต หรือ รูปทรงที่กำหนดขึ้นด้วยขอบรอบนอก ทำหน้าที่เป็นแผ่นหลังคา แผ่นผนัง หรือ ส่วนกั้น

โดยมีลักษณะพิเศษคือ (คำนี้ต้องมี หลังจากคำนี้คือสิ่งที่เราต้องการขอคุ้มครองครอง)

แผ่นเมทัลชีท (40) อย่างน้อยที่สุดหนึ่งพื้นที่จะได้รับการจัดให้มีวัสดุเม็ดเซรามิคที่มีลักษณะเป็นชิ้นส่วนขนาดเล็กจำนวนหนึ่งติดยึดติดเข้ากับพื้นผิวแผ่นเมทัลชีท (40) ด้วยสารยึดติด

2.แผ่นเมทัลชีทที่มีหินเซรามิคอยู่ที่พื้นผิวสัมผัส ตามข้อถือสิทธิ 1 ที่ซึ่ง (คำนี้ต้องมี แสดงถึงเป็นข้อถือสิทธิรอง) แผ่นเมทัลชีท (40) มีลักษณะเป็นแผ่นลอน

3. แผ่นเมทัลชีทที่มีหินเซรามิคอยู่ที่พื้นผิวสัมผัส ตามข้อถือสิทธิ 1 ที่ซึ่ง โดยมีการจัดเรียงชั้นดังนี้
ชั้นที่หนึ่ง (10) จะเป็น สารเคลือบรองพื้นเพื่อการยึดเกาะอย่างน้อยที่สุดหนึ่งชั้น
ชั้นที่สอง (20) จะเป็น วัสดุเม็ดเซรามิคอย่างน้อยที่สุดหนึ่งชั้น
ชั้นที่สาม (30) จะเป็น สารเคลือบทับหน้า อย่างน้อยที่สุดหนึ่งชั้น

4. แผ่นเมทัลชีทที่มีเม็ดเซรามิคอยู่ที่พื้นผิวสัมผัส ตามข้อถือสิทธิ 3 ที่ซึ่ง โดยมีการจัดเรียงชั้นดังนี้ ชั้นที่สอง (20) จะเป็น วัสดุเม็ดเซรามิคที่มีลักษณะเป็นชิ้นส่วนขนาดเล็กจำนวนหนึ่งที่ได้มาจากอนุภาคเซรามิค โดยถูกโปรย หรือ พ่น ลงบนสารเคลือบรองพื้นเพื่อการยึดเกาะชั้นที่หนึ่ง (10)

5. แผ่นเมทัลชีทที่มีเม็ดเซรามิคอยู่ที่พื้นผิวสัมผัส ตามข้อถือสิทธิ 4 ที่ซึ่ง วัสดุเม็ดเซรามิคที่จะมีขนาดที่เท่ากันหรือไม่เท่ากันอย่างใดอย่างหนึ่ง

6. แผ่นเมทัลชีทที่มีเม็ดเซรามิคอยู่ที่พื้นผิวสัมผัส ตามข้อถือสิทธิ 3 ที่ซึ่ง
โดยชั้นที่หนึ่ง (10) สารเคลือบรองพื้น จะประกอบด้วยสารยึดติดที่เลือกได้จาก สารประเภทสารอครีลิกเรซิ่น โดยจะเลือกให้สารยึดติดผสมเข้ากับ น้ำ สารปรุงแต่งคุณสมบัติ และ ผงสี อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน
โดยชั้นที่สาม (30) สารเคลือบทับหน้า จะประกอบด้วยสาร สารยึดติดที่เลือกได้จาก สารประเภทสารอครีลิกเรซิ่น โดยจะเลือกให้สารยึดติดผสมเข้ากับ น้ำ สารปรุงแต่งคุณสมบัติ และ ผงสี อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน

7. แผ่นเมทัลชีทที่มีเม็ดเซรามิคอยู่ที่พื้นผิวสัมผัส ตามข้อถือสิทธิ 1-6 ข้อใดข้อหนึ่งที่ซึ่ง โดยแผ่นเมทัลชีท (40) อย่างน้อยที่สุดหนึ่งพื้นที่จะได้รับการจัดให้มีวัสดุหินเซรามิคที่มีลักษณะเป็นชิ้นส่วนขนาดเล็กจำนวนหนึ่งที่ได้มาจาก หิน หรือ หินภูเขาไฟ ติดยึดติดเข้ากับพื้นผิวแผ่นเมทัลชีท (40) ด้วยสารยึดติด

8. แผ่นเมทัลชีทที่มีเม็ดเซรามิคอยู่ที่พื้นผิวสัมผัส ตามข้อถือสิทธิ 1-7 ข้อใดข้อหนึ่งที่ซึ่ง โดยมีขั้นตอนการทำดังนี้
ก.จัดเตรียมแผ่นเมทัลชีท (40) ที่มีรูปทรงเรขาคณิต รูปทรงลอน หรือ รูปทรงที่กำหนดขึ้นด้วยขอบรอบนอก
ข.ชั้นที่หนึ่ง (10) สารเคลือบรองพื้นเพื่อการยึดเกาะอย่างน้อยที่สุดหนึ่งครั้ง
ค.ชั้นที่สอง (20)โรยหรือพ่นเม็ดเซรามิค ขณะที่สารยึดเกาะยังไม่แห้ง จัดให้เม็ดเซรามิคติดเข้ากับแผ่นเมทัลชีท (40) ทั่วพื้นผิวสัมผัส หลังจากนั้นทำให้สารยึดเกาะแห้งและเม็ดเซรามิคเกาะดีกับแผ่นเมทัลชีท (40) โดยการปล่อยให้แห้งที่อุณหภูมิห้องปกติหรือโดยใช้ความร้อน
ง. ชั้นที่สาม (30) สารเคลือบทับหน้าลงบนเม็ดเซรามิคที่แห้งดีแล้ว และ ทำให้สารเคลือบทับหน้าใส และ สีแห้งโดยการปล่อยให้แห้งที่อุณหภูมิห้องปกติหรือโดยใช้ความร้อน

ข้อห้ามและคำที่ห้ามใช้ใน ข้อถือสิทธิ
คำว่า เช่น /ตัวอย่าง / อาทิ / ใดๆ / ประมาณ /สามารถ /เป็นต้น/ พวกนี้ห้ามใช้ เพราะไม่ชัดเจน

9. รูปเขียน (ถ้ามี)
รูปเขียน ที่ดีที่สุดคือ รูปที่อธิบายได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องบรรยาย แสดงถึงส่วนประกอบและกรรมวิธีได้อย่างชัดเจน และต้องเป็นไปตามหลักการเขียนแบบ คือ ลายเส้นขาวดำ เส้นเท่ากัน ไม่มีแรงเงา และ ต้องใช้เครื่องมือในการวาดเขียน และไม่มีคำบรรยายใดๆ ตัวอย่างด้านล่าง

10. บทสรุปการประดิษฐ์
บทสรุป โดยเป็นการระบุรายละเอียดโดยสรุปของการประดิษฐ์โดยย่อ ซึ่งที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 200 คำหรือครึ่งหน้ากระดาษ A4 ส่วนประกอบของร่างคำขอสิทธิบัตรเหล่านี้ เมื่อประกอบรวมกันจะได้เป็นร่างคำขอสิทธิบัตร ที่มีส่วนประกอบทีสมบูรณ์ ชัดแจ้ง ชัดเจน ครบถ้วนตามหลักเกณฑการพิจารณาของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมีโอกาสที่จะทำให้ผู้ตรวจสอบได้รับจดแจ้งงานประดิษฐ์มากกว่า ร่างคำขอสิทธิบัตรที่ส่วนประกอบไม่ครบตามกรมทรัพย์สินทางปัญญากำหนดได้

การจัดหน้าร่างคำขอรับสิทธิบัตร
การจัดแบบฟอร์ม และ การเตรียมเอกสาร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการเขียนสิทธิบัตร สรุปสั้นๆ ดังนี้

เลขหน้าสิทธิบัตร
1. การใส่เลขหน้า จำนวนหน้ากระดาษ ระบุว่า หน้า 1 ของจำนวน….หน้า และ ต้องแยกเป็น ตอนๆ

1. ชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์ + 2. สาขาวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์ + 3. ภูมิหลังของศิลปะหรือวิทยาการที่เกี่ยวข้อง + 4. ลักษณะและความมุ่งหมายของการประดิษฐ์ + 5. การเปิดเผยการประดิษฐ์โดยสมบูรณ์ + 6. คำอธิบายรูปเขียนโดยย่อ + 7. วิธีการในการประดิษฐ์ที่ดีที่สุด 9. รูปเขียน (ถ้ามี)
ให้นับหน้ารวมกัน หน้า 1 ของจำนวน….หน้า

8. ข้อถือสิทธิ
ให้นับหน้ารวมกัน หน้า 1 ของจำนวน….หน้า

10. บทสรุปการประดิษฐ์
ให้นับหน้ารวมกัน หน้า 1 ของจำนวน….หน้า

เลขบรรทัดสิทธิบัตร
2. การใส่เลขบรรทัด
ต้องใส่เลขบรรทัด ทุกๆ 5 บรรทัด ดังแสดงตามตัวอย่าง เพราะเวลา นายทะเบียนมทีคำสั่งแก้ไข จะสั่งว่า บรรทัดที่ 16-18 หน้าที่ 2 ให้แก้ไขดังนี้……. เป็นต้น และ ไม่ระบุเลขบรรทัด ในบรรทัดที่ไม่มีตัวอักษร ตัวอย่างด้านล่าง

 

จ้างที่ปรึกษาร่างคำขอ ดีอย่างไร?
สำหรับใครที่ไม่มีเวลาในการเขียนสิทธิบัตรและไม่ทราบเรื่องการบังคับใช้และการฟ้องร้องโดยใช้สิทธิบัตรเป็นเครื่องมือ การจ้างที่ปรึกษาก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ดีกว่าทำเอง และ ยังมีมุมในเชิงกฎหมาย เชิงธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากมีทนายความเป็นปรึกษาก็จะดีกว่า ซึ่งที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญ จะสามารถช่วยดูแลในส่วนนี้ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนั้นบริการสืบค้น และวิเคราะห์คำขอสิทธิบัตรก่อนยื่นจดทะเบียน เพื่อช่วยป้องกันโอกาสที่จะเหมือนหรือคล้ายกับงานก่อนหน้า และใช้เป็นเอกสารอ้างอิงในการร่างคำขอให้มีจุดที่แตกต่างกัน เพื่อเพิ่มโอกาสการรับจดทะเบียนด้วย

จดสิทธิบัตร
หากต้องการจ้างและขอความคุ้มครองสามารถให้ที่ปรึกษาของ TGC Thailand ดำเนินการให้ได้

สรุป
การร่างคำขอสิทธิบัตร เพื่อขอรับสิทธิบัตรนั้น ต้องอาศัยประสบการณ์ในการเขียนงานและผ่านประสบการณ์การขึ้นศาลมาก่อน นอกจากนี้ การใส่เทคนิคพิเศษในการคุ้มครองที่เหมาะสมลงไปในร่างคำขอถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก โดยคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรจะต้องคุ้มครองแบบกว้างและไม่สามารถนำไปดัดแปลงแก้ไขได้โดยง่าย และไม่กว้างเกินไปจนไม่สามารถรับจดทะเบียนได้เนื่องจากไม่มีความใหม่

อ่านเพิ่มเติม
คู่มือการร่างคำขอ : กรมทรัพย์สินทางปัญญา

ทั้งนี้หากใครมีความสงสัยเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า หรือทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ หรือต้องการขอคำปรึกษาเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา สามารถติดต่อสอบถามเข้ามาได้ ทั้งทางช่องทางไลน์และโทรศัพท์กับเรา TGC Thailand ได้ ซึ่งเป็นช่องทางที่ทั้งง่ายและสะดวก

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

แอดไลน์